องุ่น
องุ่น
ชนิดขององุ่น
1. องุ่นขาว ได้แก่ White Malaga(80%), Muscat dAlexandrie, Muscat de Saint-Vallier, Muscat de Terracina, Early muscat, Chenin, Riesling, Traminer, Ugni blanc, Sauvignon, Colibard
2. องุ่นดำ ได้แก่ Cardinal(10%), Flame Tokay, Muscat de Hambourg, A.Lavalle, Cinsault, Radjani noir, Cabernet Sauvignon, Merlot, Syrah, Gamay, Rubired, Nebbiolo, Grenache, Barbera.
พันธุ์องุ่นที่ปลูกเพื่อการค้าในประเทศไทยระยะแรกปลูกในเขตจังหวัดราชบุรีและนครปฐม คือพันธุ์ไวท์มะละกาและพันธุ์คาร์ดินัล และเมื่อมีการขยายการปลูกไปเกือบทั่วทุกภาค จึงมีการนำพันธุ์ใหม่ๆจากต่างประเทศทั้งองุ่นทานสดพันธุ์ไม่มีเมล็ดและมีเมล็ดมาปลูก โดยพันธุ์ที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยจะเน้นพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ดซึ่งปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่มีโอกาสทางตลาดดี ได้แก่
- บิวตี้ซีดเลส (Beauty Seedless) เป็นพันธุ์หลักที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีและมีการผลิตสูง โดยตัดแต่งแต่ละครั้งสามารถให้ผลผลิตต่อต้นได้สูงถึง 50 กิโลกรัมต่อต้น และเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแข็งแรงเจริญเติบโตเร็วและผลไม่มีปัญหาแตกง่าย สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่มีความสูงตั้งแต่ 300 – 1,200 เมตร องุ่นพันธุ์นี้มีลักษณะผลทรงกลม สีดำ ผลมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.0 – 1.5 เซนติเมตร เปลือกหนารสชาติอร่อย หวานและกรอบ ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ตัดแต่งจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 4.5 – 5 เดือน
- รูบี้ซีดเลส (Ruby Seedless) เป็นพันธุ์หนักใช้เวลาตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวกว่า 6 เดือน และต้องการอากาศเย็นจึงจะให้ผลผลิตได้ดี องุ่นพันธุ์นี้มีผลรียาว สีแดง ผลมีขนาดใหญ่กว่าบิวตี้ซีดเลส เปลือกหนา รสชาติอร่อย หอมหวานและกรอบ
- เฟรมซีดเลส (Flame Seedless) เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาในไทยไม่นานนักและมีผลผลิตคุณภาพดีแต่ต้องการอากาศเย็น และเติบโตเร็ว ผลมีสีแดงเรื่อ ขนาดผลค่อนข้างเล็ก ความหวานปานกลาง เนื้อแน่นและกรอบ
- แบล็กโอปอล (Black Opal) เป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ในหลายๆสภาพภูมิอากาศ โดยพบว่าในเขตร้อนเช่น จังหวัดชลบุรีก็สามารถให้ผลผลิตดี องุ่นพันธุ์นี้เจริญเติบโตเร็ว ไม่มีเมล็ด ผลสีม่วงอมดำ ขนาดผลเล็ก ทรงกลม ความหวานสูง เนื้อนุ่มไม่เหลว ผลดกไม่แตกง่ายเมื่อโดนฝน
- ลูสเพอเล็ท (Loose Perlette) มีลักษณะผลกลม สีเหลืองทอง ผลมีขนาดเล็ก มึความหวานสูง กลิ่นหอมเนื้อแน่นกรอบ แต่เปลือกผลบางจึงค่อนข้างมีปัญหาในระยะผลใกล้แก่ ถ้าได้รับน้ำมากเกินไปหรือได้รับน้ำกะทันหัน จะทำให้ผลแตก องุ่นพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่อากาศเย็น
- ไชน์มัสแคท ชอบสภาพอากาศร้อน หากปลูกในที่ร่มจะออกดอกยากขึ้น จะอ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนส และราสนิม การขยายพันธุ์ใช้ต้นตอป่า ติดตา เสียบยอด ปักชำหรือตอน การแตกตาหลังตัดแต่งกิ่งจะช้ากว่าพันธุ์อื่นๆ ที่อากาศเย็น การปลูกแบบตัว T ระยะปลูก 1.5×8เมตร แบบตัว H ระยะปลูก 3×8 เมตร แบบตัว Y ระยะปลูก 1.5×8 เมตร ปลูกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เตรียมต้น 7-8 เดือน ตัดแต่งกิ่งปลายฤดูฝน อายุเก็บเกี่ยว 70-80 วันหลังดอกบาน ผลองุ่นขนาด 7.5-9.5 กรัม ช่อผลขนาด 300-380 กรัม ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ 19-23องศาบริกซ์ ปริมาณกรด 0.5-0.6 กรัม/100มิลลิลิตร ไม่มีเมล็ด 95 เปอร์เซ็นต์ ผิวผลมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อผลแน่น กรอบ และมีกลิ่นมัสแคท
———————————————————————————————————-
องุ่นที่ปลูกในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์การ์แบร์เน โซวีญง (Carbernet sauvignon) พันธุ์คาร์ดินัล พันธุ์ชาร์ดอนเน (Chardonnay) พันธุ์ซินฟานเดล (Zinfandel) พันธุ์ซีราห์ หรือ ชีราซ (Syrah / Shiraz) พันธุ์เซมียง (Se’million) พันธุ์โซวีญง บล็อง (Sauvignon Blanc) พันธุ์แบล็คโอปอล พันธุ์ปีโน กรี (Pinot Gris) พันธุ์ปีโน นัวร์ (Pinot Noir) พันธุ์เฟรมซีดเลส พันธุ์มะละกา พันธุ์แมร์โล (Merlot) พันธุ์รีสลิง (Riesling)
องุ่นชอบดินที่เป็นกรดอ่อน มีค่า pH ระหว่าง 5.5 – 5.6 นอกจากนี้องุ่นจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง แสงแดดจัด ความชื้นในอากาศต่ำ ระดับน้ำฝนไม่ควรเกิน 40 นิ้ว และไม่น้อยกว่า 15 นิ้วต่อปี
การแต่งและตัดเถาองุ่น การแต่งและตัดตามแต่งและตัดเพื่อให้องุ่นที่ปลุกแตกกิ่งก้านสาขาได้รูปทรงเข้ากับหลักหรือค้างที่ทำไว้เพื่อให้ได้รูปทรงตามความต้องการ ต้องดำเนินการตั้งแต่ปลูก หากองุ่นที่ปลูกไม่แข็งแรงให้ตัดต้น เหลือตาเพียง 2 – 3 ตา เมื่อแตกกิ่งจากตาแล้วตัดกิ่งออกเหลือกิ่งที่ แข็งแรงเพียง 1 กิ่ง เพื่อใช้เป็นเถาใหญ่ ต้องคอยเด็ดกิ่งแขนงข้าง ๆ ออกให้เหลือแต่ยอดเถาเดียว ผูกเถากับค้างหรือหลัก ให้ยึดเกาะเมื่อเถาเจริญเติบโตเป็นสีน้ำตาล ก็ตัดยอดหรือปลายของเถานั้นตามความต้องการตามปกติจะต้องตัดเหลือแค่ลวดเส้นล่าง องุ่นจะแตกกิ่งจากตาปลายแถวเป็นหลายกิ่ง เลือกตัดให้เหลือ 1 – 2 กิ่ง ซึ่งจะเป็นแขนงขององุ่น มัดกิ่งแขนงนี้เข้ากับค้างตามความต้องการ การแต่งและตัดตามแต่งและตัดเพื่อบังคับให้องุ่นแตกกิ่งออกดอกติดผลตามความต้องการ เพื่อบังคับให้ออกผลนั้นต้องดำเนินการเมื่อองุ่นขึ้นค้างเข้ารูปทรง เมื่อกิ่งแขนงเจริญเติบโตจนยาวให้ตัดยอดของแขนงนั้นออก เหลือไว้ตามที่ ต้องการโดยคำนึงถึงระยะของต้น ขนาดของค้างและหลักที่ทำไว้ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะมีตาแตกจากแขนงนี้กี่ตา เมื่อตาบนแขนงนี้แตกเป็นกิ่งเจริญเติบโตจนเป็นกิ่งแก่มีสีน้ำตาล ให้ตัดกิ่งให้สั้นเป็นตอกิ่ง มีตาเหลือ 2 – 3 ตา เพื่อให้เกิดกิ่งจากตาของตอกิ่งที่เหลือไว้ กิ่งที่เกิดเมื่อสมบูรณ์แข็งแรงจะออกดอกติดผลเมื่อออกผลแล้วต้องเลี้ยงกิ่งนี้ไปจนเป็นกิ่งแก่จึงตัดให้สั้นเข้าเหลือตาไว้ 2 – 3 ตา เพื่อให้เป็นตอกิ่ง ซึ่งจะแตกกิ่งต่อไป และกิ่งที่แตกนี้เจริญเติบโตแข็งแรงก็จะออกดอกติดผลการตัดแต่งกิ่ง ถ้าเห็นว่างอกกิ่งมากเกินไป ควรตัดออกบ้างเพื่อมิให้แยกอาหาร กิ่งที่ตัดออกนี้ หากเป็นกิ่งแก่สามารถนำไปปักชำเป็นพันธุ์ต่อไป การเด็ดตาตาที่แตกเป็นกิ่งซ้อนขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีประโยชน์ควรตัดทิ้งยิ่งเห็นว่าเป็นตาที่ไม่สมบูรณ์ควรรีบตัดทิ้งไปการตัดมือความจริงมือขององุ่นมีไว้เพียงเพื่อยึดเกาะรับน้ำหนักของกิ่ง ถ้ามากเกินไปควรตัดทิ้ง หากปล่อยไว้ก็จะแย่งอาหาร และเมื่อองุ่นตาย จะแกะมือออกค่อนข้างยากอายุการตกผลและการเก็บผลองุ่น ตามปกติองุ่นจะตกผลปีละครั้ง
การเก็บผลผลิต : ต้นแข็งแรงเจริญเติบโตดีจะให้ผลในระยะ 1 ปี
- การตกผลจะราวต้นเดือนกันยายน – ตุลาคม และแก่เก็บได้ราวปลายเดือนธันวาคม – มกราคม
- การตกผลในครั้งที่สองเดือนกุมภาพันธ์ ผลจะแก่เก็บได้ในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์การบำรุงรักษาสภาพพื้นที่รวมทั้งดินฟ้าอากาศ อายุขององุ่น หากบำรุงรักษาเป็นอย่างดี สามารถจะออกผลได้นานถึง 50 – 60 ปี ส่วนการที่องุ่นจะเริ่มตกผลเมื่ออายุ 1 ปีนั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะองุ่นที่ขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่ง ปักชำ ติดตา ทับกิ่ง ต่อกิ่งและตอนส่วนการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจะตกผลเมื่ออายุ 3 – 4 ปี
——————————————————————————————————
แมลงศัตรูองุ่นที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ หนอนกระทู้หอม (Beat armyworm, Spodoptera exiqua (Hubner)), หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cotton ballworm, Helicoverpa armigera (Hubner)), เพลี้ยไฟพริก (Chili Thrips, Scirtrothrips dorsolis Hood)
ก. หนอนกระทู้หอม (Beat armyworm, Spodoptera exiqua(Hubner)),
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญขององุ่นชนิดหนึ่ง หนอนชนิดนี้ทำความเสียหายต่อทุกส่วนขององุ่น ได้แก่ ใบ ดอก ผล ทั้งในระยะติดดอกออกผล และยอดที่เจริญสะสมอาหารจะไปเป็นดอกและผลในฤดูเพาะปลูกถัดไป การระบาดของหนอนชนิดนี้มีระบาดเกือบทั้งปี เพราะมีพืชอาหารมากมาย ปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี แมลงจึงมีแหล่งแพร่ลูกหลานขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ตัวเมียวางไข่ได้ 20-80 ฟอง พบกลุ่มไข่ส่วนมากตามด้านหลังใบ โดยพบตั้งแต่ใบอ่อน หรือใบเริ่มเข้าใบเพสลาด และใบแก่ ไข่ปกคลุมด้วยจนสีขาว หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่จะอยู่เป็นกลุ่มและแทะผิวใบพรุนเป็นร่างแห ทำให้ใบแห้ง จึงไม่มีแหล่งผลิตเพื่อสะสมอาหาร จะมีผลกระทบต่อองุ่นที่กำลังติดผล ผิวเปลี่ยนสี และทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพและการติดผลในฤดูต่อไปด้วยและหนอนจะเคลื่อนย้ายกัดกินไปตามใบอื่นๆ หรือตามช่อดอกอื่นๆ ถ้าพบทำลายใบจะทำลายใบอ่อนทั้งหมด และทำลายใบที่มีอายุมากขึ้นเป็นลำดับ ในช่อดอกหรือผลอ่อนพบทำลายดอกและผลอ่อนทำให้เสียหาย ใบที่ถูกทำลายจะสังเกตเห็นใบแห้งตายในสวนองุ่นที่มีการทำลายมาก สภาพแวดล้อมจะมีผลต่อวงจรอายุของแมลง ทำให้อายุขัยของแมลงจะแตกต่างกันในแต่ละฤดู ในรอบวันหนึ่งๆ หนอนชนิดนี้จะเคลื่อนย้ายหากินตามยอดบริเวณใบอ่อนในช่วงตั้งแต่เวลาเย็นตลอดจนถึงเช้ามืด ในเวลากลางวันช่วงอากาศร้อนหนอนกระทู้หอมจะหาที่หลบซ่อนตัวบริเวณหลบแสงสว่าง เช่น ใบที่ซ้อนกัน ช่วงหัวค่ำผีเสื้อชนิดนี้ชอบบินมาเล่นแสงไฟ
การป้องกันกำจัด
1. เก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลายช่วยลดการระบาด
2. ในระยะหนอนขนาดเล็กและมีการระบาดน้อย พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส Bacillus thuringiensis (Bt) อัตรา 6080 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเชื้อไวรัสนิวเคลียร์โพลีฮีโดรซิส (NPV) หนอนกระทู้หอม อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
3. พ่นสารฆ่าแมลงกลุ่มยับยั้งการลอกคราบ เช่น คลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูเฟนนอกซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 4-7 วัน แล้วแต่การระบาด
4. หากพบกลุ่มไข่เฉลี่ย ๐.5 กลุ่มต่อต้น พ่นด้วยสารคลอฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
5. การจับทำลายหรือในกรณีที่มีการระบาดมากให้ใช้ไม้เคาะหลังค้างองุ่น หรือใช้น้ำฉีดพ่นให้หนอนร่วงตกลงบนพื้น และทำลายเสีย ใช้จาระบี หรือสารฆ่าแมลงทาบริเวณโคนลำต้นองุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้หนอนไต่ขึ้นไปทำลายบนต้นซ้ำอีก
ข. หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cotton ballworm, Helicoverpa armigera (Hubner)) เป็นหนอนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งจะพบทำความเสียหายต่อส่วนที่เป็นผลผลิตขององุ่นโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะออกดอกและติดผลอ่อน การทำลายจะมีผลต่อผลผลิตขององุ่นโดยตรง ทำลายองุ่นโดยกัดกินส่วนดอก และเมล็ดภายในผลองุ่นทำลายระยะติดดอกตั้งแต่ดอกตูมจนถึงระยะดอกบาน จะพบช่อดอกที่ถูกทำลายโดยบางส่วนของดอกถูกทำลายกัดกินเป็นแถบ และถ้าทำลายในระยะช่อผลอ่อนที่มีอายุส่วนใหญ่จะไม่เกิน 10-14 วัน หลังจากดอกบานเท่านั้นจะเจาะกินเมล็ดภายในหมดและย้ายไปกัดกินผลอื่นต่อไป ผลที่ถูกทำลายจะเห็นรูร่องรอยถูกทำลายและจะไม่เจริญอีกต่อไป หนอนชนิดนี้ 1 ตัว สามารถทำลายได้หลายช่อดอก การป้องกันกำจัดจำเป็นต้องดำเนินการให้ทันเวลาการป้องกันกำจัดแมลงแบบผสมผสานจะพยายามเน้นการป้องกันกำจัดโดยชีววิธี จึงมีการทดลองนำไวรัสของหนอนชนิดนี้มาใช้ร่วมกับการใช้สารฆ่าแมลงด้วย
ค. เพลี้ยไฟมีหลายชนิดที่ทำลายองุ่น แต่ที่พบมากที่สุด คือ เพลี้ยไฟพริก (Chili Thrips, Scirtrothrips dorsolis Hood) สามารถทำลายพืชทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย โดยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ตาดอก ดอก และผลอ่อน ทำให้ยอด ใบอ่อนหงิกงอ ใบแห้งกรอบ ไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด อาการที่พบส่วนมากถ้าทำลายบางส่วนจะทำให้เกิดแผลเป็นรอยสะเก็ดสีน้ำตาล ในระยะใบเมื่อเกิดทำลายจะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ถ้าเกิดในระยะดอกทำให้ดอกร่วงไม่เกิดผล และแผลสะเก็ดตามช่อองุ่นถ้าเป็นกับผล เมื่อผลเกิดแผลเป็นตำหนิคุณภาพตก ซึ่งจะเกิดตั้งแต่ระยะติดผลเมื่อผลแก่ขึ้นจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายไม่เจริญ และปริแตกได้ง่าย ที่สำคัญทำให้ยอดมีการเจริญเติบโตชะงักทั้งในฤดูที่กำลังติดผล และฤดูหน้าที่จะติดช่อต่อไป โดยมากพบระยะระบาดตั้งแต่หลังจากตัดแต่งกิ่ง จนผลโตเต็มที่เนื่องจากองุ่นมีการแตกยอดตลอดเวลา
การป้องกันกำจัด
1. หลีกเลี่ยงการปลูกองุ่นในพื้นที่ใกล้เคียงกับพืชอาศัยอื่นๆ เช่น มะม่วง ทั้งนี้เนื่องจากเพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่มีขนาดเล็ก การเคลื่อนย้ายด้วยลม ทำให้มีการระบาดของเพลี้ยไฟในสวนองุ่นได้
2. สารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถควบคุมเพลี้ยไฟได้นาน 5 วัน
3. การตัดแต่งกิ่งยอด องุ่นเป็นพืชที่มีการแตกยอด-อ่อนอยู่เสมอ ทั้งยอดและตาข้างที่แตกออกมาควรปลิดทิ้ง เพราะยอดที่แตกมาใหม่ดังกล่าวจะพบเพลี้ยไฟเกือบตลอดเวลา
—————————————————————————————————–
โรคศัตรูที่สำคัญ
ก. โรคราสนิม ด้านใต้ใบ พบผงสปอร์สีส้มเกิดเป็นจุด หรือกลุ่มกระจายอยู่ทั่วใบ ด้านบนใบตำแหน่งที่อยู่ตรงกันเห็นเป็นจุดขนาดเล็กสีเหลือง ต่อมาจุดสีเหลืองจะขยายใหญ่และเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล เห็นเป็นจุดประสีน้ำตาลทั่วทั้งใบ ใบจะแห้งและร่วงหล่น
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เก็บส่วนที่เป็นโรคและใบที่ร่วงออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
2. เมื่อเริ่มพบโรคระบาดควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะดิมีฟอน 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน
ข. โรคใบจุด หรือโรคสแคปลักษณะอาการบนใบอ่อนพบ จุดแผลสีน้ำตาลอ่อนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วใบ ทำให้ใบหงิกงอ ต่อมาแผลขยายใหญ่ ขอบแผลนูนตรงกลางยุบตัว ขอบแผลมีสีอ่อนกว่าตรงกลางแผล เนื้อใบบริเวณที่เกิดแผลจะแห้งและเป็นรูพรุน หากแผลเกิดบริเวณก้านใบ เถาอ่อน และมือเกาะ จะทำให้ก้านใบและเถาบิดเบี้ยว ลักษณะอาการบนผลอ่อน เห็นเป็นจุดแผลกลมสีน้ำตาล ขอบนูน แผลค่อนข้างแห้ง
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง อย่าให้มีใบแน่นทึบเกินไป หลีกเลี่ยงการตัดแต่งกิ่งช่วงที่มีฝนตก และเก็บส่วนที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
2. เมื่อเริ่มพบโรคระบาดมากช่วงแตกใบอ่อน ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไดฟีโนโคลนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน หรือใช้ azoxystrobin+difenoconazole 20%+12.5% อัตรา 10-15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4 วัน
ค. โรคแอนแทรคโนส เชื้อราสาเหตุ Colletotrichum gloeosporioides ลักษณะอาการของโรค เนื้อเยื้อบริเวณแผลบุ๋มลงไปเล็กน้อย ขอบแผลสีเข้ม ถ้าอากาศชื้นๆ จะ เห็นจุดสีชมพู สีส้มตรงกลางแผล ส่วนในผลแก่จะเห็นบริเวณเน่าเป็นสีน้ าตาล มีจุด สีชมพู สีส้ม เกิดขึ้นบริเวณตรงกลางแผลเต็มไปหมด ต่อไปจะท าให้ผลแห้ง เปลือก เหี่ยว ผลติดกับช่อไม่ร่วงหล่น
การแพร่ระบาด เชื้อแพร่ระบาดทางลมและทางหยดน้ำจากใบลงสู่ผลองุ่น และเข้าทำลาย ทางแผลบริเวณก้นผลองุ่นได้ง่าย เชื้อราสามารถอยู่ตามเศษซากองุ่นที่เป็นโรค
การป้องกันกำจัด
1. ใช้หลักการเขตกรรม เช่น ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งโล่ง ทำลายเศษซากพืชเป็นโรค จัดการระบายน้ำให้ดี นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไม่ปลูกองุ่นในช่วงปลายฝนอัน เป็นระยะระบาด จะช่วยลดอาการโรคลงได้ เช่น อาจเลี่ยงมาปลูกประมาณเดือน มกราคม
2. ควบคุมโรคในสวนก่อนระยะเก็บเกี่ยวด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (carbendazim) อัตรา 6-12 มิลลิลิตรต่อน้ า 20 ลิตร พ่นให้ทั่วต้น พืช หรือใช้คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ (copper oxychloride) ฉีดพ่นในระยะเริ่ม ออกดอก และขณะที่ดอกยังเล็กอยู่
——————————————————————————————————-
การใช้ฮอร์โมน
1. กระตุ้นการแตกตาขององุ่น ใช้สาร Hydrogen cyanamide 52% W/V AS อัตรา 250-300 มล./น้ำ 20 ล. พ่นหลังการตัดแต่งกิ่งทำให้องุ่นแตกตาพร้อมกัน
2. การยืดช่อดอกองุ่น ใช้สารจิบเบอเรลินแอซิด ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ทำหน้าที่การยืดตัวของเซล(cell elongation) ช่วยขยายขนาดผล ทำการตัดแต่งกิ่งองุ่น แล้วให้ปุ๋ย 20-10-10 อัตรา 70 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อช่อดอกมีความยาว 2 ซม.ทำการพ่นสารอัตรา 1 ppm. เช่น Gibberellic acid 5% W/V SL ใช้อัตรา 0.8 มล./น้ำ 20 ล. Gibberellic acid 20% ST ใช้อัตรา 0.2 กรัม/น้ำ 20 ล.
3. การเพิ่มขนาดผลและน้ำหนักช่อผล
- สาร CPPU กับองุ่นไม่มีเมล็ดพันธุ์ Marroo seedless อัตรา 20 มก./ล. พ่นในระยะผลเริ่มเปลี่ยนสีหรือผลเริ่มนิ่ม
- สาร GA3 ความเข้มข้น 50 มก./ล. + CPPU กับองุ่นไม่มีเมล็ดพันธุ์ Perlette อัตรา 2.5 มก./ ล. พ่นหลังดอกบาน 14 วัน
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com
Category: VDO, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ย-ฮ