banner ad

GAP กระเจี๊ยบแดง

| October 21, 2013

GAP กระเจี๊ยบแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L.

ชื่อสามัญ Roselle, Jamaica sorrel

ชื่อวงศ์ MALVACEAE

ชื่ออื่น กระเจี๊ยบเปรี้ยว(ทั่วไป) ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ม(ภาคเหนือ) ส้มตะเลงเครง(ตาก); ส้มปู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

1. ลักษณะของพืช

เป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว ลำต้นสูง 1-2 เมตร ลำต้นอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีม่วงแดง ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบของต้นที่ยังเล็กและใบที่อยู่ใกล้ดอก บางใบมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่ และมีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปใบมีขอบใบหยักเว้าลึก 3-5 หยัก แต่ละหยักกว้าง 0.5-3 ซม. ยาว 3-8 ซม. ปลายหยักแหลม โคนมน เส้นโคนใบ 3-5 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีเส้นใบนูนเด่นชัด โคนเส้นกลางใบมีต่อม 1 ต่อม ก้านใบยาว 4-15 ซม. หูใบเป็นเส้นเรียว ยาว 0.8-1.5 ซม. ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ขนาดใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง ริ้วประดับเรียวแคบ สีแดง 8-12 เส้น ยาวประมาณ 1 ซม. เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแหลม 5 แฉก ยาว 1-2 ซม. แต่ละแฉกมีเส้นกลีบ 3 เส้น โคนเส้นกลางกลีบมีต่อม 1 ต่อม กลีบดอกใหญ่ สีเหลือง 5 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 2-3 ซม. ยาว 3-5 ซม. โคนกลีบสีแดงเข้ม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว 1-3 ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย อับเรณูสีนวล ขนาดเล็ก จำนวนมากอยู่รอบหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 5 ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง เป็นตุ่มเล็กและมีขน ผลสีแดง รูปไข่ป้อม กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่ ยาว 2-5 ซม.รองรับอยู่จนผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต ขนาด 4-6 มม. ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

 

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- เจริญเติบโตได้ดีในเขตกึ่งร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 18-35 องศาเซลเซียส

- ชอบอากาศร้อนหรือค่อนข้างร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง และไม่ชอบน้ำขัง

- ขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมเป็นพิเศษ คือ ดินเนินเขา ดินสีแดง ดินควรมีความเป็นกรดด่างระหว่าง 6.6-6.8

- เจริญได้ในที่โล่งแจ้ง สภาพแสงแดดจัดเต็มวัน เป็นพืชที่ไวต่อแสง จะออกดอกเมื่อวันสั้น ดังนั้นจึงต้องการช่วงแสง 13 ชั่วโมง ในช่วงการเจริญเติบโต 4-5 เดือน และจะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 120 วัน

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกพันธุ์ที่มีกลีบเลี้ยงหนาอวบน้ำ ดอกสีแดงเข้มจนถึงม่วง ทนแล้งได้ดี

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์ซูดาน

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนบนพื้นที่ราบแบบไม่ยกร่อง และปรับพื้นที่

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

4.3 วิธีการปลูก : ปลูกโดยการหว่านหรือหยอดเมล็ด แต่เพื่อให้ได้กระเจี๊ยบแดงที่มีคุณภาพ และให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ควรปลูกโดยการหยอดเมล็ด

1. วิธีการปลูกแบบหยอดเมล็ด โดยใช้เมล็ดลงปลูกหลุมละประมาณ 2-3 เมล็ด ระยะปลูก 1×1 เมตร แล้วกลบดินเล็กน้อย เมื่ออายุได้ 3-4 สัปดาห์ เป็นต้นอ่อนถอนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

2. ช่วงฤดูปลูก ประมาณเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม

3. ข้อควรระวัง ในบริเวณที่ปลูกกระเจี๊ยบแดง ให้กำจัดดอกของหญ้าและวัชพืชที่จะปลิวใส่ดอกกระเจี๊ยบแดง เพราะจะทำให้เมล็ดและดอกหญ้าติดไปกับผลผลิต ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการส่งออก

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ระยะ 1-2 เดือน ควรมีการให้น้ำสม่ำเสมอ หลังจากนั้นจะสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี

5.2 การใส่ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ในระยะแรกที่มีการปรับพื้นที่ปลูก หรือในช่วงที่เริ่มเจริญเติบโตอายุ 10-15 วัน และ 40-50 วัน ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพราะถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้ใบและฝักโตเร็วเกินไป และเป็นโรคง่าย

5.3 การกำจัดวัชพืช

1. ตากดิน เพื่อทำลายเมล็ดวัชพืช

2. คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

3. การคลุมดินหลังปลูกจะช่วยรักษาความชื้นของดินและบังแสงสว่างไม่ให้วัชพืชงอกหรืองอกได้ช้า หรือใช้พลาสติกทึบแสงคลุมแปลงปลูก

4. ขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้งที่พบ พรวน ถากดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำขณะที่ยังเล็ก โดยใช้การถอน

5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบจุด โรคฝักจุด หรือ ฝักลาย โรคแอนแทรคโนส

การป้องกันกำจัด ใช้เชื้อบาซิลลัส ซับทิลิส (บีเอส) พ่นในอัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ คือ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่นฝ้าย

การป้องกันกำจัดใช้เชื้อ BT (Bacillus thruringiensis) ในอัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร หรือใช้สารธรรมชาติ เช่น เมล็ดสะเดา พ่นในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ20 ลิตร หรือใช้สารธรรมชาติ หรือพ่นด้วยสารเคมีตามคำแนะนำ และอาจปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช เช่น แมลงช้างปีกใสและด้วงเต่าตัวห้ำ

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : สำหรับการเก็บเกี่ยวกระเจี๊ยบแดงทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. เก็บเกี่ยวเฉพาะดอกกระเจี๊ยบแดง โดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดเฉพาะดอกที่แก่ แล้วใส่ในภาชนะที่มีวัสดุรอง เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกช้ำ แล้วจึงขนย้ายออกจากแปลง

2. เก็บเกี่ยวทั้งต้น โดยใช้เคียวเกี่ยวกิ่งที่มีดอกบริเวณโคนกิ่ง วิธีนี้จะเก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว แต่ดอกอาจหลุดร่วงระหว่างขนย้าย การเก็บเกี่ยวดอกกระเจี๊ยบแดงควรทำให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มเก็บเกี่ยวจนนำไปตากให้แห้ง เพื่อจะได้แทงเมล็ดออกจากกลีบเลี้ยงได้ง่าย

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : โดยดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยว ดังนี้

1. นำดอกกระเจี๊ยบแดงที่ได้ไปแทงเมล็ดออก โดยใช้เหล็กกระทุ้ง ซึ่งเป็นแท่งโลหะกลวงปลายหยัก แทงบริเวณขั้วให้เมล็ดหลุดออกกระเปาะหุ้มเมล็ด ส่วนที่เหลือเป็นส่วนของกลีบเลี้ยง หรือกลีบดอกของกระเจี๊ยบแดง และนำกลีบดอกที่กระทุ้งได้ ไปตากแดดนาน 4-7 วัน จนแห้งสนิท

2. การตากกระเจี๊ยบแดง ควรตากบนชั้นให้สูงจากพื้นดินประมาณ 60-70 เซนติเมตร และคลุมด้วยผ้าขาวบาง เพื่อป้องกันดอกหญ้า และเศษวัชพืช ปลิวไปปะปนกับกระเจี๊ยบแห้ง

7.2 การเก็บรักษา

1. นำกระเจี๊ยบแดงที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส และปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด

2. หมั่นคอยดูแลและระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพกระเจี๊ยบแดงลดลง

3. กระเจี๊ยบแดงแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีความชื้น และโรคแมลงเข้าทำลาย

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของกระเจี๊ยบแดง ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news