banner ad

เห็ดกระด้าง

| September 9, 2013 | 0 Comments
เห็ดกระด้าง
เห็ดกระด้างหรือเห็ดลม เห็ดลมเป็นชื่อที่เรียกกันทางภาคเหนือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เห็ดบด เห็ดขอนดำ หรือ เห็ดกระด้าง ในธรรมชาติมักพบขึ้นกับไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง รัง เหียง ตะเคียน และไม้กระบาก เป็นต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus polychrous Lev.
สูตรอาหาร
สูตรที่ 1 ขี้เลื่อยแห้ง (ไม้ยางพารา ไม้มะขาม) 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม ปูนขาว หรือ แคลเซียมคาร์บอเนต (หรือยิบซั่ม) 0.5-1 กิโลกรัม ( หรือเพิ่ม น้ำตาลทราย 2-3 กิโลกรัม) ผสมน้ำ ปรับความชื้น 50-55 เปอร์เซ็นต์สูตรที่ 2 ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ 100 กิโลกรัม แอมโมเนียมซัลเฟต 1 กิโลกรัมปูนขาว 1 กิโลกรัม ผสมส่วนผสมทั้ง 3 ชนิด หมักกับน้ำประมาณ 2-3 เดือน กลับกอง ประมาณ 3-4 ครั้ง นำไปผสมกับรำละเอียด 3 กิโลกรัม (หรือเพิ่มน้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม) ปรับความชื้นประมาณ 50-55 เปอร์เซ็นต์
สายพันธุ์

เบอร์ 1 ขนาดดอกบานเต็มที่กว้าง 10-15 ซม . สีน้ำตาลเข้ม อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของเส้นใยอยู่ระหว่าง 30-32 เซลเซียส ให้ผลผลิตเฉลี่ย 60 กรัมต่อวัสดุเพาะ 1 กิโลกรัม การออกดอกง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

อุปกรณ์

1. อาหารเพาะ 2. หัวเชื้อเห็ดลม 3. ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 7 X 13 นิ้ว , 8 X 13 นิ้ว หรือ 9 X 13 นิ้วฯลฯ 4. คอพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 นิ้ว 5. สำลี ยางรัด 6. ถังนึ่งไม่อัดความดัน 7. โรงเรือนหรือสถานที่บ่มเส้นใย และเปิดดอก

วิธีการทำ

1. บรรจุอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อน กดให้แน่น สูงประมาณ 2/3 ของถุง 2. รวบปากถุง สวมคอพลาสติก พับปากถุงลงมา ดึงให้ตึง รัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลี หุ้มทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบพลาสติก 3. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่อุณหภูมิ 90-100 องศาเซลเซียส สม่ำเสมอ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง จากนั้นทิ้งให้เย็น 4. นำถุงอาหารที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว มาใส่เชื้อจากหัวเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้โดยทั่วไปจะเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง เขย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายออก และใส่ลงในถุงอาหารประมาณถุงละ15-20 เมล็ด โดยปฏิบัติในที่สะอาดไม่มีลมโกรก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลง 5. นำไปวางในโรงเรือนหรือสถานที่สำหรับบ่มเส้นใย อุณหภูมิประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส เพื่อให้เส้นใยเจริญ

การเจริญเส้นใยของเห็ดลม

เส้นใยเห็ดลมใช้เวลาในการเจริญเต็มอาหารเพาะน้ำหนัก 800-1,000 กรัม ประมาณ 30-35 วัน จากนั้นเส้นใยจะค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีส้ม จนถึงน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ โดยเฉพาะเมื่อถูกอากาศและแสง ระยะเวลาการเจริญทางเส้นใยจนเริ่มให้ดอกเห็ดขึ้นกับสายพันธุ์ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 80-90 วัน

โรงเรือนเปิดดอก

โรงเรือนเปิดดอกเห็ดลมควรให้มีแสงผ่านเข้าภายในโรงเรือนได้ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีช่องเปิด – ปิดสำหรับถ่ายเทอากาศ อาจใช้ตาข่ายพรางแสงมุงหลังคาและฝา และในกรณีฤดูฝน มุงหลังคาทับด้วยคา หรือวัสดุกันน้ำ
การเปิดถุงและการกระตุ้นให้เกิดดอก
เปิดจุกสำลี หรือตัดปากถุง วางในโรงเรือน ให้ความชื้นโดยการให้น้ำในโรงเรือนและบริเวณก้อนเชื้อ ให้มีความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ปรับโรงเรือนให้มีสภาพร้อนชื้นอุณหภูมิประมาณ 33-36 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มงอก จากนั้นปรับอุณหภูมิในโรงเรือนให้ลดลงมีอากาศถ่ายเทได้ดี ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีแสงสว่างปานกลางเพื่อให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตต่อไป ในระหว่างให้ผลผลิตแต่ละครั้งเส้นใยเห็ดลมจะพักตัวประมาณ 15-20 วัน
การเก็บดอกเห็ด
ควรเก็บดอกขณะที่หมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 เซนติเมตร และเก็บส่วนต่างๆ ของดอก ให้หลุดออกจนหมด เพื่อป้องกันการเน่าเสียจากเศษหรือส่วนของดอกเห็ดที่เหลือติดค้างอยู่ที่ก้อนเชื้อ ขนาดของดอกเห็ดที่เก็บขึ้นกับความต้องการของผู้เพาะ ดอกเห็ดอ่อนจะมีราคาสูงกว่าดอกเห็ดที่บานเต็มที่ และมีความเหนียวน้อยกว่าเห็ดบาน
สรรพคุณ ฝนกินแก้เม็ดตุ่มพองที่เกิดจากพิษไข้ แก้ปวดท้อง แก้พิษจากสัตว์ต่างๆ รวมทั้งงู ต้มดื่มแก้อาการเมาเหล้าได้
ที่มา : กลุ่มจุลชีววิทยาประยุกต์ กรมวิชาการเกษตร

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Category: เห็ด

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news