banner ad

เห็ดแครง

| June 7, 2013 | 0 Comments
เห็ดแครง
เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันไป ภาคเหนือเรียก เห็ดแก้น เห็ดตามอด ภาคใต้เรียก เห็ดยางเพราะพบบนไม้ยางพารา ภาคกลางเรียกเห็ดมะม่วงเนื่องจากขึ้นบนไม้มะม่วง นอกจากนี้ยังพบขึ้นบนไม้อื่น ๆ เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้สน ฯลฯ ทั้งนี้จะเห็นเห็ดขึ้นมากมายในฤดูฝน เป็นที่นิยมรับประทานกันในเขตภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน ราคาจำหน่ายดอกสดกิโลกรัมละ 80-150 บาท เห็ดแห้ง ก . ก . ละ 400-500 บาท จากงานวิจัยพบว่า เห็ดแครงต้องการอาหารเสริมที่เป็นโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตสูง เนื่องจากต้องใช้ธาตุอาหารมากในการเจริญของเส้นใยที่รวดเร็ว ประกอบกับต้องใช้เทคนิคการเพาะและการดูแลเฉพาะตัว ดังนั้นก่อนหน้านี้ จึงไม่มีเกษตรกรรายใดเลยที่จะเพาะปลูกเห็ดแครงออกมาขาย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรก็ได้วิจัยสูตรอาหาร เทคนิคการเพาะ การดูแล จนได้ผลผลิตที่มากเพียงพอในแง่เศรษฐกิจ เฉลี่ย 130-150 กรัม ในวัสดุเพาะ 1000 กรัม ซึ่งผลผลิตเห็ดแครงที่ได้จากการเพาะนี้ข้อดีคือ เป็นดอกที่แก่กำลังพอดี ไม่เหนียวเกินไป สะอาดไม่มีกรวดทรายติดมา เห็ดแครงนอกจากจะใช้บริโภคแล้ว ในประเทศญี่ปุ่นยังใช้เป็นยาเนื่องจากพบสารประกอบพวก polysaccharide ชื่อว่า Schizophyllan (1,3 b -glucan) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสและยับยั้งเซลมะเร็งชนิด Sarcoma 180 และ Sarcoma 37 โดยทดลองใน white mice ยับยั้งได้ 70-100 % จึงคาดว่าน่าจะเป็นเห็ดที่มีศักยภาพดีในอนาคตต่อไป
การเพาะเลี้ยงเห็ดแครง
ขั้นตอนในการเลี้ยงเห็ดแครงจะเหมือนกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ยกเว้นสูตรอาหารและเทคนิคการเพาะ การดูแล ซึ่งต่างไปบ้าง เนื่องจากมีธาตุอาหารสูง ต้องปฏิบัติให้ถูกหากไม่ดีจะทำให้เห็ดเกิดการปนเปื้อนเชื้อราอื่นได้สูง เป็นเหตุให้ผลผลิตเสียหาย สำหรับแม่เชื้อเห็ดแครงที่บริสุทธิ์แนะนำให้สั่งซื้อจาก ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร เพราะได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์มาแล้วว่า ให้ลักษณะดอกดี มีขนาดใหญ่ และผลผลิตสูง เมื่อได้แม่เชื้อมาแล้วก็นำมาทำเชื้อขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งมีวิธีการเตรียมเหมือนเห็ดชนิดอื่นๆ ดังนี้
วัสดุและอุปกรณ์
1.ขี้เลื่อยไม้ยางพารา มะม่วง หรือ ฉำฉา อย่างใดอย่างหนึ่ง 2.เชื้อขยายเห็ดแครง 3.ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 7 x 11 นิ้ว 4.คอพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว 5.ฝ้าย นุ่น สำลี ยางรัดของ 6.หม้อนึ่งลูกทุ่ง หรือหม้อนึ่งความดัน 7.โรงบ่มเส้นใย และโรงเรือนเปิดดอก
การเตรียมเชื้อขยายในอาหารเมล็ดข้าวฟ่าง

แช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำไปต้มไฟปานกลางเมื่อเมล็ดข้าวฟ่างเริ่มนุ่ม นำขึ้นสรงให้สะเด็ดน้ำบนตะแกรง เมื่อเย็น กรอกใส่ขวดแบน จากนั้นปิดจุกสำลี นำไปนึ่งความดัน โดยใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ เวลา 30 นาที จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วตัดเส้นใยจากแม่เชื้อในอาหารวุ้นถ่ายลงไปด้วยเข็มเขี่ยในสภาพปลอดเชื้อ บ่มเส้นใยที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 7-10 วัน ก็นำไปถ่ายลงวัสดุเพาะได้

การเตรียมวัสดุเพาะ
สูตรอาหาร

ขี้เลื่อย 100 ก.ก. เมล็ดข้าวฟ่างต้มแล้ว 50 ก.ก. รำ 3-5 ก.ก. ปูนขาว 1 ก.ก. น้ำ 65-85 ก.ก.

วิธีการเพาะ

แช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเทน้ำทิ้งเปลี่ยนน้ำใหม่ต้มให้เดือด จนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก แล้วรินน้ำทิ้ง พักไว้ให้เย็นหมาดๆ ระหว่างนี้ให้ผสมขี้เลื่อย ปูนขาวและรำเข้าด้วยกันก่อน จากนั้นจึงผสมน้ำลงไป ( หากผสมพร้อมกันหมด รำจะจับติดเป็นก้อน ) เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงนำเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้มาผสมอีกที จากนั้นกรอกใส่ถุงพลาสติก ขนาด 6×10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 600 กรัม ใส่คอขวด รัดยาง และ ปิดสำลี แล้วปิดด้วยฝาปิด จากนั้นนำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ เวลา 30 นาที หรือ นึ่งด้วยหม้อนึ่ง ลูกทุ่งอุณหภูมิ 100 ซ เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้เวลาแล้วพักไว้ให้เย็น จึงรีบใส่เชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้ทันที พยายามอย่าทิ้งถุงไว้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนสูง

การพักบ่มเส้นใย
โรงเรือนสำหรับพักบ่มเส้นใย ควรเป็นโรงเรือนในร่ม ที่มีการระบายอากาศดี และข้อสำคัญ ควรเป็นที่มืด ( ขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต ตรงนี้เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างจะปฏิบัติได้ยาก แต่จะต้องพยายามทำให้มืดที่สุด ) เส้นใยจะเจริญเต็มถุงในเวลา 15-20 วัน ที่อุณหภูมิ ระหว่าง 25-35 ซ ซึ่งหลังจากเส้นใยเต็มถุง จึงให้แสงในโรงบ่ม ซึ่งแสงจะไปกระตุ้นให้เห็ดสร้างตุ่มดอก จะสังเกตเส้นใยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จึงนำไปเปิดดอกโดยดึงจุกสำลีและคอขวดด้านบนออก ใช้ยางรัดปิดปากถุงให้แน่น แล้วกรีดด้านข้างให้เป็นมุมเฉียงจากบนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง แล้วจึงนำไปวางบนชั้นหรือแขวนในโรงเรือนเปิดดอกต่อไป
โรงเรือนเปิดดอก
โรงเรือนเปิดดอกจะใกล้เคียงกับโรงเรือนเปิดดอกของเห็ดหูหนูเช่นกัน หากเป็นโรงเรือนของเห็ดนางรมนางฟ้า ต้องเพิ่มความชื้นขึ้นอีกเนื่องจากเห็ดแครงชอบความชื้นในบรรยากาศสูงและการระบายอากาศต้องดีด้วย การรดน้ำ ควรจะติดระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้าและเย็น หากรดน้ำด้วยมือจะต้องใช้หัวฉีดพ่นฝอย มิฉะนั้นก้อนเห็ดจะดูดน้ำเข้าไปทำให้ก้อนเชื้อเสียและปนเปื้อนจุลินทรีย์อื่น การวางก้อนเชื้อจะต้องวางตั้งบนชั้นหรือแขวนแบบเห็ดหูหนู หลังจากกรีดข้างถุงและรดน้ำเห็ดไปประมาณ 5 วัน จะเก็บผลผลิตรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากนั้นเห็ดจะพักตัวอีก 5-7 วัน รดน้ำเป็นปกติก็จะเก็บรุ่นที่ 2 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตก็จะหมดให้ขนก้อนเก่าไปทิ้ง และพักโรงเรือน ให้แห้งเป็นเวลา 15 วัน จึงนำถุงเห็ดรุ่นใหม่ เข้าเปิดดอกต่อไป
การเก็บผลผลิต
ควรเก็บผลผลิตในระยะที่ดอกมีสีขาวนวล ก่อนที่จะสร้างสปอร์ มิฉะนั้นสีจะคล้ำออกสีน้ำตาล ดูไม่น่ารับประทานและเนื้อดอกจะเหนียวขึ้นอีกด้วย
ต้นทุนการผลิต
ต้นทุนผันแปร ตก 2-3 บาท ต่อก้อนขนาด 600 กรัม ราคาจะอยู่ระหว่างนี้ ขึ้นอยู่กับราคาของเมล็ดข้าวฟ่าง และขี้เลื่อย ซึ่งเมื่อให้ผลผลิตจะขายได้ 6-7 บาท / ก้อน ทำให้มีกำไร 4 บาท / ก้อน
ข้อควรระวัง

ในระยะพักบ่ม ก้อนเชื้อจำเป็นต้องพักบ่มเส้นใยในที่มืด มิฉะนั้นแสงจะกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก ทั้งๆที่เส้นใยยังเจริญไม่เต็มถุงและสะสมอาหารยังไม่เต็มที่ จะเป็นสาเหตุให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ ในระยะเปิดดอก ต้องคำนึงไว้เสมอว่าวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดแครงนั้น มีธาตุอาหารสูงมาก สูงกว่าการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ดังนั้นการปนเปื้อนจากราเขียว ราสีส้ม จะเกิดได้ง่ายมาก ต้องดูแลการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว ควรเก็บผลผลิตในขณะที่ดอกเป็นสีขาวนวล อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้แก่ จนเห็ดสร้างและปล่อยสปอร์เพราะบางท่านอาจแพ้สปอร์ได้ ก้อนเชื้อที่เก็บผลผลิตหมดแล้วควรเก็บทิ้งให้เป็นที่และหมักให้ย่อยสลายดี ก่อนนำไปเป็นปุ๋ย เพราะเห็ดแครงสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ดี ถึงแม้จะเป็นไม้ที่ตายแล้วก็ตาม (Wood decay) เกรงว่าจะไปทำอันตรายต่อผลิตผลการเกษตรบางชนิด

สรรพคุณ ช่วยแก้อาการระดูขาว หรือตกขาว ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

Category: เห็ด

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news