กระท้อน
กระท้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sandoricum indicum Cav
ชื่ออื่นๆ : หมากต้อง บักต้อง (อีสาน) มะติ่น (เหนือ) ล่อน เตียน สะเตียง สะตู (ใต้)
ถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้เส้นศูนย์สูตร กระท้อนเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีอายุยาวนานนับ 100 ปี ผลกระท้อนมีรูปทรงค่อนข้างกลม กลมแป้น ผลดิบสีเขียว ผิวเกลี้ยง ผลสุกสีเหลืองทอง หรือสีน้ำตาลอ่อน ผิวหยาบมีรอยย่นตาวแนวยาวของผล (ขนาดของผลโดยประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง10 – 15 เซนติเมตร) การห่อผลจะช่วยให้สีผิวของกระท้อนสวยขึ้น
แหล่งปลูก : กระท้อนปลูกมากในจังหวัดนนทบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี พิษณุโลกสุราษฎร์ธานี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : กระท้อนมีเปลือกหนาประมาณ 0.5 – 1.5 เซนติเมตร เนื้อติดเมล็ด สีขาวเป็นปุย เนื้อแบ่งเป็นพู ในแต่ละผลมีประมาณ 3-5 พู แต่ละพูมี 1 เม็ด เนื้อกระท้อนมีรสเปี้ยว บางพันธุ์หวาน
การขยายพันธุ์ : เมล็ด การตอนกิ่ง การเสียบยอด
การเสียบยอด ตอนกิ่ง จะได้ผลที่มีลักษณะ และมีรสตามต้นเดิม และต้นไม่สูงมาก ต้นแตกกิ่งที่ระดับต่ำ ที่สำคัญจะให้ผลหลังการปลูกเพียง 2-3 ปี ส่วนวิธีดั้งเดิม คือ การปลูกด้วยการเพาะเมล็ด จะได้ต้นสูงใหญ่ และกว่าจะติดผลได้ก็ประมาณ 5-7 ปี หลังปลูก
พันธ์ุ
1. กระท้อนพันธุ์ทับทิม ลักษณะกระท้อนพันธุ์ทับทิมเป็นกระท้อนพันธุ์เบา ต้นปลูกง่าย เจริญเติบโตรวดเร็ว มีทรงสูง ออกดอกติดผลง่าย เก็บเกี่ยวได้ผลก่อนพันธุ์อื่นๆ ราวเดือน พฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ผลดก ขั้วผลใหญ่และยาว ห่อผลง่าย ผลไม่ร่วง ผลทรงกลมแป้น ค่อนข้างเล็ก น้ำหนักประมาณ 200 กรัม/ผล มีขั้วผลยาวทำให้ห่อสะดวกเปลือกมีผิวเรียบบาง สีเหลืองนวล เนื้อหนานิ่ม มีปุยแทรกเนื้อ รสหวานอมเปรี้ยว ปุยหุ้มเมล็ดหนา รสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโตปานกลาง การขยายพันธุ์โดยวิธีตอนกิ่ง จะออกรากง่าย เมื่อปลูกแล้วโตเร็ว เป็นพันธุ์ที่ถูกบันทึกว่าได้นำมาปลูกที่ จังหวัดนนทบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 ปลูกแล้วให้รสชาติดีแม้ผลจะเล็กในสภาพดินทรายที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะกระท้อนพันธุ์ทับทิมจะมีผลขนาดลูกเล็ก ถ้าแก่จัดแล้วไม่เก็บ ผลจะแตกง่าย ร่วงง่าย และถ้าฝนตกชุกจะทำให้ไส้แดงเป็นน้ำหมาก
2. กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย ลักษณะกระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายเป็นพันธุ์หนัก ผลมีอายุการเก็บเกี่ยวช้าจะเก็บผลได้ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ผลมีขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่น้ำหนักผลประมาณ 400-800 กรัมต่อผล ทรงผลกลม สูงเล็กน้อย ด้านก้นผลเรียบ ขั้วสั้นที่ผิวมีขนอ่อนนุ่มมือ ผิวเปลือกมีสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง ด้านขั้วจะนูนขึ้น บางผลจะมีรอยขรุขระเล็กน้อย เนื้อหนานุ่มไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อจนถึงเปลือก รสชาติหวานอมเปรี้ยว (รสกลมกล่อม) ไม่ฝาด มีปุยหุ้มเมล็ดหนาฟูสีขาวสวย รสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโต แบน แก่จัดไส้ไม่เป็นน้ำหมาก จุดอ่อนคือให้ผลผลิตไม่ค่อยดก
3. กระท้อนพันธุ์นิ่มนวล ลักษณะกระท้อนพันธุ์นิ่มนวลเป็นพันธุ์ที่ให้ผลดกพอประมาณ มีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักผลประมาณ 300-600 กรัมต่อผล ทรงผลกลมแป้น มีขั้วสั้น ผิวเปลือกเรียบมีสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง มีผิวเรียบสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อหนา นิ่ม ไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ส่วนปุยที่หุ้มเมล็ดหนาฟู สีขาว รสหวานจัด เนื้อนิ่มกวาพันธุ์ “ทับทิม” เมล็ดมีขนาดปานกลาง เป็นพันธุ์ที่ได้จากการนำเมล็ดพันธุ์ทับทิมไปเพาะ
4. กระท้อนพันธุ์เทพรส ลักษณะกระท้อนพันธุ์เทพรสเป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง จะแก่ช้ากว่าพันธุ์ ”ทับทิม”เล็กน้อย จะเก็บผลประมาณเดือน มิถุนายน ผลมีขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 250-500 กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูงเล็กน้อย มีขนาดกลาง มีขั้วสั้น มีผิวเปลือกเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มีขนอ่อนที่ผิวนุ่มมือ ด้านข้างผลจะมองเห็นสันนูนขึ้นมาตรงพูของเมล็ดชัดเจนกว่าพันธุ์อื่น ๆ เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อหนานิ่มไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อ มีรสหวานอมเปรี้ยวแต่ที่ปุยหุ้มเมล็ดมีรสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโต ฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
5. กระท้อนพันธุ์ทับทิมสยาม ลักษณะกระท้อนพันธุ์ทับทิมสยามเป็นพันธุ์เบาให้ผลดกและแก่เร็ว ระยะการเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤษภาคม ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่มีขนาดผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักผลประมาณ 200 กรัม/ผล ทรงผลกลมแป้น มีขั้วยาว ผิวเปลือกเรียบบาง มีสีเหลืองนวล เนื้อบางนิ่ม ปุยหนา มีปุยแทรกเนื้อ เมล็ดมีขนาดโตปานกลาง เนื้อมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่ปุยหุ้มเมล็ดมีรสหวานจัด ถ้าผลแก่แล้วไม่ทำการเก็บเกี่ยวผลจะแตกง่าย ถ้ามีฝนตกชุกจะทำให้ไส้แดงเป็นน้ำหมาก
6. กระท้อนพันธุ์อีล่า ประวัติความเป็นมา ยายกุล แย้มนพ ได้นำเมล็ดกระท้อนพันธุ์อีไหวมาปลูกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2471 หลังจากออกดอกและติดผลแล้วปรากฏว่าให้ผลผลิตดีกว่าเดิมแต่ออกผลได้ช้ากว่าพันธุ์อื่น ๆ จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “พันธุ์อีล่า”ลักษณะกระท้อนพันธุ์อีล่าเป็นกระท้อนพันธุ์หนัก ออกดอกติดผลดี แต่จะเก็บเกี่ยวผลได้ช้ากว่าพันธุ์อื่นๆ คือราวต้นเดือน สิงหาคมถึงเดือนกันยายน ลักษณะต้นมีทรงพุ่มกว้าง ใบและผล มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงติดผลได้มาก ขั้วผลใหญ่ ร่วงยาก ผลใหญ่ ในต้นที่มีอายุ 4 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 150-200 กิโลกรัม/ต้น เฉลี่ยต่อผล 1.3 กก./ผล เมื่อผลแก่ใกล้สุกพร้อมเก็บเกี่ยวผิวเปลือกจะเป็นสีเหลืองเข้มออกน้ำตาลอ่อน ๆ เปลือกบางมาก ต้นที่ให้ผลในปีแรก ผลจะมีลักษณะมีหัวนูนขึ้นเมื่อให้ผลครั้งต่อไป ส่วนนูนก็จะลดน้อยลงจนคล้ายพันธุ์ปุยฝ้าย เนื้อในนิ่ม รสหวาน ปุยยาวฟูสีขาว และเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ลักษณะพันธุ์อีล่ามักจะออกผลได้ช้ากว่าพันธุ์กระท้อนพันธุ์อื่น ๆ จึงไดชื่อว่า “พันธุ์อีล่า”
7. กระท้อนพันธุ์นิ่มนวล ลักษณะกระท้อนพันธุ์นิ่มนวลเป็นพันธุ์ให้ผลดก อายุเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมิถุนายน ขนาดผลปานกลางน้ำหนักประมาณ 300-600 กรัม/ผล ทรงผลกลมแป้น ขั้วสั้น ผิวเปลือกเรียบสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง เนื้อหนานิ่มไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปุยหุ้มเมล็ด หนาฟู รสหวานจัด เมล็ดมีขนาดปานกลาง
8. กระท้อนพันธุ์ขันทอง ลักษณะกระท้อนพันธุ์ขันทองเป็นกระท้อนพันธุ์หนัก ให้ผลผลิต 300-500 ผล/ต้น/ปี ผลขนาดใหญ่ บางผลหนักเปลือกมีผิวเรียบ เนื้อเป็นปุยหนาสีขาว หนากว่าพันธุ์ “อีเมฆ” รสหวาน เนื้อที่ติดกับเปลือกจะมีรสค่อนข้างฝาด จุดเด่นคือ ผลขนาดใหญ่ ต้นพันธุ์เดิมเป็นของ นายผูก อ่ำแดงได้มาจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ “อีเมฆ”
9. กระท้อนพันธุ์คานหาม ลักษณะกระท้อนพันธุ์คานหามเดิมคือพันธุ์ “อีจาน” เป็นกระท้อนพันธุ์ที่มีขั้วเหนียวและแข็งแรง ไม่ร่วงง่าย
การปลูก
1. การเตรียมแปลงในพื้นที่ดอนจำต้องไถให้เรียบเสมอ และกำจัดวัชพืชออกก่อน หลังจากนั้น ทำการขุดหลุมปลูก ขนาดหลุมลึก กว้างที่ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมหรือระยะปลูกที่ 6-8 x 6-8 เมตร
2. การปลูกจะต้องปลูกในช่วงต้นฝนจะดีที่สุด เริ่มด้วยการหว่านโรยก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม/หลุม ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 1 ถังเล็ก/หลุม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 2 กำมือ/หลุม แล้วเกลี่ยดินบนคลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูกตรงกลาง พร้อมเกลี่ยดินกลบให้พูนเล็กน้อย จากนั้น ใช้ฟางข้าวหรือเศษใบไม้โรยรอบโคนต้น ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม
3. หลังการปลูก หากฝนไม่ตกหรืออยู่ในช่วงแล้งจะต้องให้น้ำช่วย 3-5 ครั้ง/เดือน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอหากเริ่มออกดอก และติดผล
การดูแลรักษา
1. การใส่ปุ๋ยในระยะ 1-2 ปีแรก หรือ ขณะที่ต้นยังไม่เริ่มติดผล ควรเน้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยที่ได้จากวัสดุอินทรีย์เป็นหลัก โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง/ปี แต่ละครั้งใส่ประมาณ 5 กำ/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 ร่วมด้วย ประมาณ 2 ครั้ง/ปี ในอัตรา 1-2 กำมือ/ต้น 2. เมื่อต้นเริ่มออกดอกครั้งแรกให้ใส่ปุ๋ยคอกตามเดิม แต่ปุ๋ยเคมีให้เปลี่ยนมาใช้สูตร 12-12-24 แทน ในอัตราเท่ากันในช่วงแรก แต่ต้องกะระยะการให้ คือ ต้องให้ก่อนหรืออยู่ในระยะออกดอก
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ : ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น แมลงวันทอง
ฤดูเก็บเกี่ยว : กระท้อนให้ผลผลิตมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน
การใช้ประโยชน์ : กระท้อนกินได้ทั้งเนื้อที่เป็นปุยสีขาวและเนื้อใต้เปลือก นิยมกินเป็นผลไม้ทำกระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนดอง กระท้อนในน้ำเชื่อม กระท้อนแช่อิ่ม แยมกระท้อน กระท้อนกวน เยลลี่กระท้อน สรรพคุณของกระท้อน มีวิตามินและแร่ธาตุหลายอย่างช่วยบำรุงร่างกาย
Category: พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ก-ณ