เทคโนโลยีการผลิตพืชในเรือนเพาะชำ
เทคโนโลยีการผลิตพืชในเรือนเพาะชำ
- โรงเรือนทั่วไปจะมีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ส่วนเพาะเมล็ด/ขยายพันธุ์ ส่วนอนุบาลต้นกล้า ส่วนสำหรับปลูกและดูแลรักษา และส่วนเก็บเมล็ดพันธุ์ วัสดุอุปกรณ์ ปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร
- โรงเรือนที่ดีต้องความสะอาดถูกสุขลักษณะ มีการระบายอากาศโดยพิจาณาทิศทางลม มีแสงแดดเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช โรงเรือนควรตั้งขวางแนวเหนือ-ใต้และสามารถบริหารจัดการอุณหภูมิ ความชื้น ให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก มีระบบการให้น้ำ/การให้น้ำที่เพียงพอ ตลอดจนการป้องกันศัตรูพืช อาจมีการยกโต๊ะเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน/ตามความเหมาะสม
- วัสดุสำหรับเพาะกล้าหรือปลูก ควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาถูก และปราศจากโรค/แมลง เช่น ดิน ขุยมะพร้าว มะพร้าวสับ แกลบดิบ แกลบเผา หินภูเขาไฟ เพอไลท์ เวอร์มิคูไลท์ สแฟกนั่มมอส หรือพีทมอส
- สารควบคุมการเจริญเติบโตตามความเหมาะสม เช่น IBA หรือ NAA เร่งราก เมื่อต้องขยายพันธุ์แบบปักชำ กุหลาบหรือเบญจมาศ
- เมล็ดพันธุ์/ส่วนขยายพันธุ์ เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ต้องมีการระบุ ชื่อ ชนิดของเมล็ดพันธุ์/พันธุ์ เครื่องหมายการค้า ชื่อผู้รวบรวมและสถานที่รวบรวม แหล่งรวบรวม น้ำหนักสุทธิหรือจำนวนเมล็ด ระบุหมวดหมายเลข (Lot.No.) ของ เมล็ดพันธุ์ แสดงค่าเปอร์เซ็นต์ความงอก เปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ แสดงวันที่รวบรวม วันที่สิ้นอายุใช้ทำพันธุ์ ต้องมีการทดสอบความงอกก่อนนำไปปลูก เป็นต้น
การทดสอบความงอกโดยวิธีการเพาะเมล็ด
- เตรียมทรายสำหรับเพาะโดยร่อนสิ่งเจือปนออก ตากแดดประมาณ 1-2 แดด เพื่อทำความสะอาด แล้วอาจใช้วัสดุเพาะชนิดอื่น เช่น ดินปลูก หรือ ขี้เถ้าแกลบ แทนได้
- ผสมทรายกับน้ำในอัตราส่วน ทราย 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 130 ซีซี คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปล่อยให้ทรายอิ่มตัวด้วยน้ำประมาณ 30 นาที หรือสามารถทดสอบการอิ่มตัวได้โดยเมื่อกำทราย ทรายจะจับตัวเป็นก้อน ไม่ร่วงหล่นจากมือ แสดงว่าสามารถนำมาใช้ได้
- นำวัสดุเพาะที่อิ่มตัวด้วยน้ำใส่ภาชนะให้สูงประมาณ 1/3 ของภาชนะที่ใช้
- ใช้ไม้ปลายแหลมขีดนำร่อง หรือใช้ปากกาเจาะให้เป็นรู แล้ววางหรือหยอดเมล็ดจำนวน 100 เมล็ดต่อภาชนะ ทำทั้งหมด 4 ซ้ำ (4 ภาชนะ)
- ใช้ทรายหรือวัสดุเพาะที่อิ่มน้ำกลบด้านบนเมล็ดที่เพาะ ความหนาประมาณ 2 เซนติเมตร
- คลุมด้วยถุงพลาสติกที่พอดีกับภาชนะที่ใช้เพาะ หรือปิดด้านบนด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์สะอาดชุบน้ำ เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำในวัสดุเพาะ (กรณีปิดด้วยกระดาษ ให้นำกระดาษออก 3 วันหลังเพาะ หรือจนกว่าเมล็ดจะเริ่มงอก ถ้าพบว่าวัสดุเพาะแห้งต้องรดน้ำให้ชุ่มเสมอ)
- หลังการเพาะ 8 วัน จึงนับจำนวนต้นอ่อนงอกปกติ เพื่อคำนวณเปอร์เซ็นต์ความงอก
- เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกควรมีความงอกอย่างน้อย 70% หรือตามที่แต่ละชนิดพืชกำหนด
การขยายพันธุ์พืชผัก นิยมใช้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีการปลูก 2 วิธี ได้แก่
- การปลูกโดยต้นกล้าที่เพาะในถาดหลุม เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ มะเขือยาว
- การปลูกโดยหยอดเมล็ดลงแปลงโดยตรง เช่น พืชวงศ์แตง พืชวงศ์ถั่ว
- การเพาะกล้า เตรียมวัสดุปลูกและบรรจุถาดหลุม/ตะกร้า จากนั้นปลูกโดยหยอดเมล็ดส่งถากหลุม/ตามแถวในตะกร้า แล้วเกลี่ยวัสดุกลบให้เสมอ เก็บไว้ในที่ร่มรำไร รดน้ำเช้าเย็นให้ชุ่ม ประมาณ 20-24 ชั่วโมงเมล็ดจะเริ่มงอกบ้างแล้ว บางชนิดอาจใช้เวลานาน 24-48 ชั่วโมง หรืออาจนานมากกว่านี้ แตกต่างกันตามชนิดของพืช ย้ายปลูกลงแปลงเมื่อมีใบจริง 3-4 ใบ โดยก่อนการย้ายปลูกลงแปลงควรเพิ่มความแข็งแรงให้พืช โดยให้ได้รับแสงเพิ่มขึ้นและอดน้ำ
- การเสียบยอด (Grafting) สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการระบาดของศัตรูพืช มักทำในพืชตระกูลแตง เช่น แตงโม เมล่อน แตงกวา หรือตระกูลพริก-มะเขือ เช่น มะเขือเทศ พริก ซึ่งวิธีเสียบยอดที่นิยมมี 3 แบบ ได้แก่ Cleft Splice และ Tongue ควรจัดเตรียมห้องอนุบาลต้นเสียบยอด โดยจะต้องมีอุณหภูมิ ระหว่าง 25-32 องศาเซลเซียส ความชื้นมากกว่า 85% แสงสว่าง 50 ไมโครโมลต่อตารางเมตรต่อวินาที
Tip&Track
เมื่อเราเพาะเมล็ดผักชีเจออาการผิดปกติที่ใบเลี้ยงเกิดจากคุณภาพเริ่มต้นเมล็ดผักชีมีเปอร์เซนต์การงอกต่ำแล้ว จะเห็นว่าความงอกเหลือแค่ 30% เอง เมล็ดชุดนี้น่าจะเก่าเก็บนาน ปกติผักชีจะมีอายุการเก็บรักษาสั้น ไม่เกิน 1 ปี เมล็ดที่เก็บรักษามานาน อาหารสำรองที่เก็บไว้ในเมล็ด (ในกรณีของผักชีคือใบเลี้ยง ) จะค่อยๆหมดลงเรื่อยๆ จากการเผาผลาญโดยขบวนการหายใจ ยิ่งเก็บนานเท่าใด อาหารสะสมยิ่งเหลือน้อย เมล็ดไหนอาหารเหลือน้อยมากหรือหมด เมล็ดก็จะตาย เพาะไม่งอก เมล็ดไหนยังพอมีเหลือมากพอ เมล็ดยังไม่ถึงกับตาย ก็จะงอกได้ แต่จะไม่แข็งแรงเหมือนเมล็ดใหม่ เมล็ดจะยังพองอกได้ แต่จะงอกช้ากว่าปกติ บางที่จะเห็นว่าเปลือกหุ้มเมล็ดติดค้างอยู่ที่ยอด เพราะใบเลี้ยงกางไม่ออก เป็นต้น ในภาพก็เป็นอีกกรณีหนึ่งคือ ปลายยอดใบเลี้ยงเหลือง แสดงถึง อาหารที่สะสมในเมล็ดนี้เหลือน้อยแล้วตั้งแต่ตอนเพาะ และมาถูกดึงมาใช้ตอนงอกอีก อาหารจะถูกดึงจากปลายใบก่อนจึงแสดงอาการเหลืองที่ตำแหน่งนี้ก่อน ครับ เดี๋ยวถ้ามีใบจริงออกมาได้ มาสังเคราห์แสงสร้างอาหารเลี้ยงต้นอ่อนต่อไปได้ ก็จะโอเค ใบเลี้ยงก็หมดหน้าทีแล้ว ส่วนเมล็ดล็อตที่แข็งแรงนั้น จะงอกได้มากและเร็ว งอกแล้วใบเลี้ยงก็ยังสดเขียวอยู่ cr : อ.ธรรมศักดิ์
Category: เทคโนโลยีสมัยใหม่