banner ad

กล้วยไม้หางช้าง

| May 6, 2015

กล้วยไม้หางช้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์  :Grammatophyllum  speciosum Blume

เป็นกล้วยไม้ป่าที่อยู่ในสกุลแกรมมาโตฟิลลัม (Grammatophyllum Bl.)มีชื่ออื่น ได้แก่ ว่านงูเหลือม ว่านหางช้าง ว่านเพชรหึง ว่านหางช้าง หรือ หางช้าง เป็นต้น เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยอยู่เบียดชิดกัน มีลำลูกกล้วยยาวมาก ลำต้นเจริญทางปลายยอด ลำลูกกล้วยเป็นแท่งกลม ขนาดใหญ่ ยาว 1 – 2 เมตร รากเกิดที่โคนต้นเป็นเส้นแข็งและฟู มีใบเป็นจำนวนมาก ใบเป็นรูปแถบ กว้าง 3 – 4 เซนติเมตร ยาว 30 – 60 เซนติเมตร ผิวมัน เรียงตัวระนาบเดียว ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 2 เมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 6 – 8 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกพื้นสีเหลืองหม่น มีประสีน้ำตาลแกมม่วงกระจายทั่วกลีบ กลีบปากเล็กกว่ากลีบอื่น ๆแยก 3 แฉก ส่วนกลางกลีบมีสันนูน 3 สัน ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน พฤศจิกายน ช่อดอกเกิดช่วงโคนต้น ช่อดอกตั้งหรือห้อยลง ดอกทยอยบานเป็นเวลานาน

กล้วยไม้หางช้างเป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ ที่มีระบบรากแบบรากอากาศ รากมีจำนวนมากมายเกาะกันแน่น และแตกแขนงที่ปลายปลายรากจะชี้ขึ้นข้างบน หรือชี้ออกไปข้าง ๆ แทนที่จะหยั่งลงข้างล่าง ว่านเพชรหึงเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กล้วยไม้หางช้างมีรูปร่างของต้นและใบสวยงาม ต้นใหญ่เป็นสง่า จึงเหมาะกับการปลูกประดับอาคาร สถานที่ต่าง ๆ ในขณะนี้กล้วยไม้หางช้างเริ่มเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในวงการไม้ดอกไม้ประดับมากขึ้น และมีราคาแพง และใช้เวลาในการปลูกยาวนานกว่าจะออกดอกให้เห็น

การขยายพันธุ์กล้วยไม้หางช้างโดยการแบ่งแยกลำต้นออกจากกอใหญ่ (จำนวนลำต้นที่แยกออกมา ต้องใช้ประมาณ 2 ลำ/กอ เป็นอย่างน้อย และควรมีลำต้นที่แก่อย่างน้อย 1 ลำ ซึ่งลำแก่อาจมีใบหรือไม่มีใบเพราะลำแก่เมื่อถูกแยกออกจากกอ จะแตกหน่อได้เร็วกว่าลำที่อ่อนกว่า) การแยกลำต้นทำได้โดยใช้เลื่อย หรือ มีดคม ๆ ผ่ากอลำหางช้างให้ระบบรากกระทบกระเทือนน้อยที่สุด และทาแผลที่เป็นรอยตัดด้วยยาป้องกันเชื้อรา เช่น ปูนแดง จากนั้นนำไปปลูกในท่อซีเมนต์ ขนาดของท่อซีเมนต์ที่ใช้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก แต่ขนาดที่นิยมใช้ปลูก คือ ท่อซีเมนต์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. ใช้เปลือกมะพร้าวแห้งวางชั้นล่างประมาณครึ่งท่อ แล้ววางกล้วยไม้หางช้างตามด้วยวัสดุปลูก ซึ่งวัสดุที่ใช้ปลูกได้แก่ รากมะพร้าวผุ เปลือกมะพร้าวแห้ง ทะลายปาล์มตัวผู้ หรือ ผสมกันระหว่างวัสดุที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น หรือ จะปลูกบนตอไม้ หากต้องการปลูกเป็นไม้ประดับ ตอไม้ที่กล้วยไม้หางช้างชอบ สามารถเจริญเติบโตได้ดี ควรเป็นตอไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้รักษ์ ไม้ตำเสา (หรือไม้ กันเกรา) ไม้เคี่ยม

ในช่วงแรก จำนวนลำต้นต่อกอจะมีเพียง 2 3 ลำ ถ้าผู้ปลูกมีความต้องการให้มีปริมาณหน่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรปลูกกล้วยไม้หางช้าง
ลงกลางวัสดุปลูก แล้วปิดทับโคนต้นด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี ได้แก่ ทะลายปาล์มตัวผู้ หรือใบไผ่ (ใบเล็ก) เป็นต้น
และให้น้ำพอประมาณ เพราะกล้วยไม้หางช้างไม่ได้เป็นกล้วยไม้ที่ต้องการน้ำมาก หลังจากที่มีหน่อใหม่เกิดขึ้นมากพอสมควร (สังเกตได้จาก
กล้วยไม้หางช้างมีทรงพุ่ม กอกล้วยไม้หางช้างสามารถวางตั้งตรงได้) กอกล้วยไม้หางช้างเริ่มมีระบบรากมากขึ้น ให้เปลี่ยนระดับกอกล้วยไม้หางช้างมาไว้ที่ด้านบนของวัสดุ พยายามวางกอหางช้างให้อยู่เหนือท่อปูน เนื่องจากหางช้างเป็นพืชที่เจริญเติบโตออกทางด้านข้างทุกทิศทาง จะทำให้ได้ทรงต้นที่สวย เป็นพุ่ม หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอก (ขี้วัวแห้ง) ปริมาณ 2 – 3 กิโลกรัม/ท่อปูน/6 เดือน (ท่อปูนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร) การใส่ปุ๋ยคอกให้โรยปุ๋ยคอกรอบๆโคนต้น เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถขยายพันธุ์หางช้างจาก 2 ลำ/ท่อ โดยใช้เปลือกมะพร้าวแห้งและทะลายปาล์มตัวผู้เป็นวัสดุปลูก ท่านจะได้หน่อใหม่เกิดขึ้น 7 – 8 หน่อ/ท่อ/ปี ส่วนการให้น้ำสำหรับกล้วยไม้หางช้าง ช่วงแรกของการขยายพันธุ์จำเป็นต้องให้น้ำสม่ำเสมอ แต่หลังจากที่มีหน่อใหม่เกิดขึ้นในปริมาณมากพอ หางช้างจะมีลักษณะเป็นกอมากขึ้น การให้น้ำจะเป็นการให้น้ำตามความจำเป็นเท่านั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงฤดูร้อน หรือสภาพอากาศร้อนผิดปกติ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้น้ำหางช้างเลย เนื่องจากหางช้างเป็นกล้วยไม้ที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ถ้าสภาพอากาศแห้งแล้งมาก หางช้างจะปรับตัวโดยการปลดใบ ซึ่งจะปลดใบจากโคนไปสู่ปลายของลำต้น แต่การให้น้ำหางช้างมีข้อควรพึงระวังให้มาก คือ

- อย่าให้น้ำกับหางช้างในเวลาที่หางช้างได้รับความร้อนมากและยาวนาน เช่น ช่วงสาย บ่าย เพราะจะทำให้ลำต้นหางช้างมีอาการช็อก
ลำต้นถูกลวกและเน่าในที่สุด ถ้าตัดออกไม่ทันจะเป็นแหล่งให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายและลุกลามไปยังลำต้นอื่นๆในกอทั้งหมด ถ้าหากเกิดกรณีเช่นนี้ให้รีบตัดลำต้นนั้นทิ้งไป แล้วทาแผลลำต้นที่ถูกตัดด้วยปูนแดง (หรือยาป้องกันเชื้อรา)

- อย่ารดน้ำให้ถูกยอดของลำต้น จะทำให้ยอดช้ำเพราะแรงน้ำ และเน่าในที่สุด ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับการรดน้ำโดยการใช้สายยางรด กล้วยไม้หางช้าง เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสง ควรปลูกกลางแจ้ง จะได้ทรงต้นที่สมบูรณ์ สวยงาม และมีโอกาสออกดอกได้ดีกว่าปลูกภายใต้การพรางแสง ให้น้ำพอประมาณ เพราะกล้วยไม้หางช้างต้องการน้ำไม่มาก ถ้ามากเกินไป จะเป็นผลให้เจริญทาง vegetative มากเกิน เป็นผลให้ไม่ออกดอก โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนแทงตาดอก (ประมาณเดือนพฤษภาคม กรกฏาคม) ไม่ควรมีการให้น้ำ หรือให้ตามความจำเป็นเท่านั้น สำหรับการ
ให้ปุ๋ย (ปุ๋ยมูลวัว (แห้ง) ควรให้ในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้ามากเกิน จะเป็นผลให้มีการเจริญเติบโตทาง vegetative มากเกินไป เช่นเดียวกับการให้น้ำ

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Tags:

Category: กล้วยไม้, พืชไม้ดอก

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news