พริกไทย
พริกไทย
ชื่ออื่นๆ : พริกน้อย โฮ่วเจีย
ชื่อวงศ์ : PIPERACEAE
ชื่อสามัญ : Black Pepper, Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum L.
การผลิตปี 2554 – 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตพริกไทยอยู่ระหว่าง 2,574 – 7,565 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 1,174 – 4,395 ตันในปี2559พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ3,098 ไร่และผลผลิตรวมทั้งประเทศ1,364 ตันเมื่อเทียบกับ ปี 2558พื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.97 และผลผลิตลดลงร้อยละ 67.15 แหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และตรัง ปัจจุบัน ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกไปจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะปลูกพันธุ์ศรีลังกา เพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด
ผู้ผลิตพริกไทยรายใหญ่ ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย บราซิล มาเลเซีย จีน ศรีลังกา และไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เถาเลื้อย มีรากเกาะออกตามข้อ สูงประมาณ 5 ม. ข้อพวงมีต้น ตัวผู้และต้นตัวเมีย ใบเหมือนใบพลู แต่เล็กเรียวกว่าเล็กน้อย ดอกช่อสีขาว ออกตามข้อ ผลกลมเล็กเขียวเป็นช่อ ยาว ผลแก่สีและแดงปลูกมากทางภาคใต้
พันธุ์ : เมื่อก่อนมีประมาณ6พันธุ์ได้แก่ 1)พันธุ์ใบหนา 2) พันธุ์โบราณหรือพันธุ์ควายขวิด 3) พันธุ์บ้านแก้ว 4) พันธุ์ปรางถี่ใบหยิก 5) พันธุ์ปรางถี่ธรรมดา 6) พันธุ์จากประเทศมาเลเซีย
ปัจจุบันได้มีการรวบรวมพันธุ์ขึ้นใหม่โดยมีอยู่ 7 สายพันธุ์ คือ 1) พันธุ์จันทบุรี 2) พันธุ์ประเหลียน 3) พันธุ์มาเลเซีย หรือพันธุ์มาเลเซียใบเล็ก 4) พันธุ์ซาราวัค หรือพันธุ์คุชชิ่ง หรือพันธุ์มาเลเซียใบใหญ่ เป็นพันธุ์ให้ผลผลิตสูงสุดในปัจจุบัน แต่เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทดทานต่อโรครากเน่าได้ดีพอสมควร จึงกลายเป็นพันธุ์ที่ชาวสวนนิยมปลูกกันมากที่สุดในปัจจุบัน 5) พันธุ์พื้นเมืองกระบี่ 6) พันธุ์ใบยาว 7) พันธุ์ซีลอน หรือ พันธุ์ศรีลังกา
การขยายพันธุ์ : เมล็ด กิ่งพันธ์ุ
การขยายพันธุ์พริกไทย : วิธีที่เหมาะสม สำหรับการขยายพันธุ์พริกไทย คือ การปักชำ และการเสียบยอด การปักชำเป็นวิธีที่ง่ายได้ผลเร็ว แต่ข้อเสียคือ ต้องใช้กิ่งพันธุ์หายาก
ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน
1. เตรียมกระบะชำ หรือถุงเพาะชำ โดยใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุเพาะ
2. เลือกยอดพันธุ์จากต้นที่แข็งแรงปราศจากโรคและแมลง โดยเลือกกิ่งที่มีสีเขียวเข้ม อายุประมาณ 1 ปีมีรากตีนตุ๊กแกที่สมบูรณ์
3. ตัดกิ่งพันธุ์ทุกๆ 5-7 ข้อ (ขึ้นอยู่กับความยาวระหว่างข้อ) จนหมดความยาวกิ่ง
4. นำกิ่งที่ตัดเตรียมไว้แล้ว ไปจุ่มในน้ำยากันรา และฮอร์โมน (เช่น เซราดิก เบอร์ 3) โดยจุ่มเฉพาะส่วนโคน แล้วจึงนำไปปักชำในวัสดุเพาะ โดยให้ข้ออยู่ใต้ระดับวัสดุเพาะ 2-3 ข้อ
5. กิ่งตัดชำออกราก และเริ่มแตกยอดประมาณ 2-3 เดือน หลังตัดชำ
6. ย้ายลงถุงเพื่อจำหน่าย หรือย้ายลงแปลงปลูกได้
ข้อควรระวัง ในเขตที่มีอากาศชื้น ฝนตกชุก เช่น ภาคตะวันออก เวลาที่เหมาะสมสำหรับการปักชำควรจะเป็นช่วงปลายฤดูฝน ถ้าในเขตที่อากาศแห้ง หลังปักชำควรต้องคลุมด้วยกระโจมพลาสติก เพื่อรักษาความชื้น ประมาณ 2-3 อาทิตย์
การเสียบยอด : วิธีนี้จะยุ่งยากและใช้เวลานานกว่า แต่มีข้อดีคือ ใช้กิ่งพันธุ์น้อย และต้นตอมีความทนทานต่อโรครากเน่าได้ดีกว่า
ขั้นตอนในการปฏิบัติ
การเตรียมต้นตอ
1. โดยทั่วๆ ไป ใช้พันธุ์โคลูบรินัมเป็นต้นตอ โดยต้นที่จะนำมาทำต้นตอ จะเลือกจากต้นหรือกิ่งที่มีอายุประมาณ 1-1.5 ปี นำมาตัดเป็นท่อนๆ ละ 5-7 ข้อ แล้วนำไปปักชำ
2. กิ่งชำจะออกรากและแตกยอดประมาณ 2-4 อาทิตย์ หลังจากปักชำ ก็สามารถนำไปทำต้นตอได้
การเตรียมต้นพันธุ์ดี
1. เลือกยอดพันธุ์จากกิ่งที่มีสีเขียวเข้ม อายุประมาณ 6-12 เดือน
2. นำมาตัดเป็นท่อนๆ ละ 2-3 ข้อ จนหมดความยาวกิ่ง
ขั้นตอนในการเสียบยอด
1. ใช้กรรไกรหรือมีด ตัดปลายยอดต้นตอ แล้วผ่าแยกตรงกลาง โดยรอยผ่ายาวประมาณ 2 ซม.
2. เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม โดนรอยเฉือนแต่ละด้านต้องเรียบ และมีความยาวประมาณ 2 ซม. หรือใกล้เคียงกับความยาวของรอยผ่าบนต้นตอ
3. นำกิ่งพันธุ์ดี เสียบลงบนรอยผ่าของต้นตอ จัดเนื้อเยื่อเจริญของกิ่งพันธุ์ ให้สัมผัสกับเนื้อเยื่อเจริญของต้นตออย่างสนิทแล้วพันด้วยเทปพลาสติกให้แน่น
4. คลุมด้วยกระโจมพลาสติก ประมาณ 3 อาทิตย์ จึงเปิดกระโจม
5. เลี้ยงต่อไปอีก 2-4 อาทิตย์ จึงย้ายลงถุงเพาะชำเพื่อจำหน่ายหรือย้ายลงปลูกในแปลงได้
การปลูกและการดูแล : นิยมปลูกโดยใช้ค้าง ก่อนปลูกเตรียมดินโดยขุดหลุมขนาดกว้าง 40 ซม. ยาว 60 ซม. และลึก 40 ซม. ใช้ปุ๋ยคอกผสมดินรองก้นหลุม นำยอดพันธุ์ลงปลูกในหลุม ยอดพันธุ์นั้นใช้ลำต้นส่วนยอดหรือส่วนอื่นที่ไม่แก่จัดอายุ 1 ปี มีขนาดยาว 40-50 ซม. และมีข้ออยู่ 5-7 ข้อ ปักชำไว้จนออกรากแข็งแรงก่อนนำไปปลูกหรือตัดยอดลงปลูกได้เลย
การตัดแต่งพริกไทย หลังจากตัดท่อนพันธุ์ ต้องรออีก 6-7 เดือนเพื่อให้ยอดเจริญจึงจะนำมาขยายพันธุ์ต่อ จัดต้นให้ตรงเหลือแขนงล่าง(ปราง)นับจากโคนไว้ 4 ข้อ ส่วนเหนือขึ้นไปตัดทิ้ง มัดข้อแต่ละข้อให้ตรงไปถึงยอด ค่าแรงงานการแต่งต้นและมัดยอดเฉลี่ยต้นละ 5 บาท
การดูแล เริ่มปลูกต้องบังร่มให้ รดน้ำวันเว้นวันเมื่ออายุ 1 เดือน จึงเอาร่มบังออก การปลูกใช้ค้างเมื่อต้นเริ่มแตกยอดอ่อนและยาวพอสมควรต้องใช้เชือกฟางหรือเถาวัลย์ผูกยอดให้แนบค้าง ปลิดยอดอ่อนที่ไม่แข็งแรงออกบ้าง เหลือยอดที่สมบูรณ์ที่สุกไว้เพียงต้นละ 2-3 ยอด เพื่อไม่ให้แย่งอาหารกิน การผูกยอดและการตัดแต่งกิ่งนี้ต้องทำทุกสัปดาห์จนกว่าพริกไทยจะสูงถึงยอดค้างพูนดิน และใส่ปุ๋ยคอกหลังกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นในฤดูแล้งควรคลุมโคนต้นด้วยหญ้าฟางหรือเปลือกถั่วเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน และปุ๋ยให้พริกไทยเมื่อเน่าสลาย นอกจากนี้ต้องคอยระวังโรคแมลงศัตรูให้ด้วย
โรคของพริกไทยและการป้องกันกำจัด
1. โรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราPhytophthora parasiticaทำให้ต้นพริกไทยรากเน่าดำและมีกลิ่นเหม็น การป้องกันกำจัดโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฎิปักษ์ในการควบคุมโรค เช่นTrichoderma harzianumใส่ลงดิน
2. โรครากเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียPseudomonassp. ทำลายส่วนใบเป็นหลัก และส่วนลำต้นทั้งหมด ทำให้ใบ ดอก และผลร่วง และทำให้รากและยอดแห้งและไม่ออกดอก การป้องกันกำจัดเบื้องต้นให้ถอนหรือทำลาย
3. โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อรา ทำลายส่วนใบของพริกไทย เกิดเป็นจุดวงกลมสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ตรงกลางแผลมีลักษณะเป็นวงสีน้ำตาลดำเรียงซ้อนกันเหมือนวงปีของเนื้อไม้ ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้ตายได้ป้องกันโดยตัดแต่งกิ่งและเก็บไปเผาทำลาย
4. โรคใบจุดซึ่งเกิดจากเชื้อ Colletotrichum sp. ลักษณะอาการ ใบพริกไทยเกิดอาการแผลเป็นจุดบุ๋มสีดำ หรือสีน้ำตาลดำ ขอบแผลเป็นสีเหลือง เมื่อแผลขยายใหญ่กลางแผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อกลางแผล ยุบตัวลงเห็นเป็นชั้นๆ :ซ้อนกัน หากเกิดที่ใบแก่ทำให้พริกไทยทิ้งใบ โรคนี้ยังพบได้ที่ก้านใบและลำต้น หากอาการรุนแรงทำให้พริกไทยชะงักการเจริญเติบโตหรือแห้งตาย การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค และเก็บใบเป็นโรคที่ร่วงหล่นนำไปเผาทำลาย และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี หรืออะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี หรือ เบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี
แมลงศัตรูพริกไทยและการป้องกันกำจัด
1. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงศัตรูพริกไทยที่สำคัญ มักเข้าทำลายผลอ่อนเมล็ดพริกไทย และเกาะติดไปกับเมล็ดพริกไทย จะดูดกินน้ำเลี้ยง บริเวณช่อผล หลังใบ กิ่งปาง(กิ่งแขนง) ราก ยอด และลำต้น ส่วนที่ยังอ่อนอยู่ ส่วนที่ถูกทำลายจะงอหงิก บิดเบี้ยว หากการระบาดรุนแรง ช่อผลแห้งและหลุดร่วง ผลผลิตเสียหาย กิ่งปาง (กิ่งแขนง) และยอดจะแห้งตาย ทำให้ผลผลิตเสียคุณภาพ การป้องกันกำจัด หากพบระบาดเล็กน้อย ให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง ถ้าระบาดรุนแรงพ่นด้วย คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
2. ด้วงงวงเจาะเถาพริกไทย ตัวอ่อนเจาะทำลายเถาพริกไทย ทำให้เถาแห้งตายส่วนตัวเต็มวัย จะกัดกินใบและผลพริกไทย ป้องกันโดยการเผาทำลาย
3. เพลี้ยอ่อน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ป้องกันโดยการเก็บทำลาย
การเก็บผลผลิต : ไทยได้ไร่ละ 679 กิโลกรัม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม สามารถผลิตพริกไทยได้ 1,100 กิโลกรัม/ไร่
พริกไทยขาวราคากิโลกรัมละ 210-220 บาท พริกไทยชนิดดีราคากิโลกรัมละ 140-145 บาท
การนำไปใช้ประโยชน์ : ทางอาหาร เมล็ดอ่อน ใช้ผสมในแกง ผัดเผ็ด ผลสุกตากแห้งป่นให้ละเอียดใช้เป็นเครื่องเทศ ทางยา ใบ แก้ลมจุกเสียดแน่น แก้ปวดมวนท้อง ดอก รสร้อน แก้ตาแดง เนื่องจากความดันโลหิตสูง เมล็ด รสเผ็ดร้อน แก้ลม อัมพฤกษ์ แก้ลมลั่นในท้อง บำรุงธาตุ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้เสมหะเฟื่อง แก้มุตกิต เถา รสร้อน แก้อุระเสมหะ และแก้อติสาร ราก รสร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียนและช่วยย่อยอาหาร
สรรพคุณ
1. เมล็ด รักษาอาการปวดตามบริเวณหัวใจ ปวดท้องอาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย รักษาอาการเมื่อย พริกไทยใช้เป็นเครื่องเทศและใช้แต่งกลิ่นอาหารทำให้มีรสชวนกินอื่นๆ พริกไทยจะมีสรรพคุณคล้ายกับพริก นิยมใช้ในทางขับลมมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวตืด
2. ใบ แก้ลมจุกเสียดแน่น แก้ปวดมวนท้อง
3. ดอก แก้ตาแดง
4. เถา แก้อติสาร
5. ราก ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร
—————————————————————————————————————————————————-
มาตรฐานพริกไทยสำเร็จรูป
พริกไทยเม็ดดำและขาว
1. ปริมาณความชื้น (%V/W) ไม่เกิน 12
2. ปริมาณเถ้ารวม (%W/W) ที่ปราศจากความชื้น
- พริกไทยดำ ไม่เกิน 8.0
- พริกไทยขาว ไม่เกิน 4.0
3. ปริมาณสารสกัดด้วยเอธานอล (%W/W) ไม่น้อยกว่า 6.8
พริกไทยผง
- ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด (%W/W)
- พริกไทยดำ ไม่เกิน 1.4
- พริกไทยขาว ไม่เกิน 0.2
- % Crude fiber แห้ง (%W/W)
- พริกไทยดำผง ไม่เกิน 17.5
- พริกไทยขาวผง ไม่เกิน 6.0
—————————————————————————————————————————————————-
การส่งออกพริกไทย ปี2554 – 2559ปริมาณการส่งออกอยู่ระหว่าง209 – 518 ตันมูลค่าการส่งออกอยู่ระหว่าง51 – 70ล้านบาทในปี2559 ปริมาณการส่งออก322 ตันมูลค่าการส่งออก 58 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2558ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.03และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.72
คู่ค้าที่สำคัญ ออสเตรเลีย อินเดีย เยอรมนี
คู่แข่งที่สำคัญ มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม
การค้ากับประเทศอาเซียน
การนำเข้า มีการนำเข้ามาจากเวียดนาม ปริมาณ 1,540,714 กิโลกรัม มูลค่า 562,693,107.86 บาท กัมพูชา ปริมาณ 33,000 กิโลกรัม มูลค่า 1,980,000 บาท และมาเลเซีย ปริมาณ 17,650 กิโลกรัม มูลค่า 214,447.50 บาท
การส่งออกมีการส่งออกไปยังเวียดนาม ปริมาณ 73,500 กิโลกรัม มูลค่า 1,735.200 บาท และอินโดนีเซีย ปริมาณ 8,500 กิโลกรัม มูลค่า 991,105 บาท
—————————————————————————————————————————————————-
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ Satja Prasongsap (Research Scientist)
Category: พืชผัก, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม, พืชเครื่องเทศ