banner ad

ผักกาดหัว

| October 14, 2014

ผักกาดหัว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphanus sativusLinn., Cv group Chinese radish

ชื่อวงศ์ Cruciferae

ชื่อสามัญ Chinese radish

ชื่ออื่นๆ หัวไชเท้า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หัวผักกาดขาวเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว สูง 0.3-1 ม. แตกกิ่งก้านที่โคนต้นจำนวนมาก มีรากสะสมอาหารขนาดใหญ่สีขาวอยู่ใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรียาว กว้าง 7-14 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉกและจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียว มีขนเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีม่วง กลีบเลี้ย 4 กลีบ สีเขียว กลีบดอกมี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ปลายกลีบมน ผล เป็นฝักและคอดระหว่างเมล็ด เมล็ดหลายเมล็ด

1.พันธุ์พันธุ์ผักกาดหัวแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ

1.1 กลุ่มพันธุ์ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หนัก และพันธุ์ปานกลางมีอายุปีเดียว และสองปี

1.2 กลุ่มพันธุ์จีน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบาและเป็นผักปีเดียว

พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา เช่นพันธุ์แม่โจ้, พันธุ์ม.ก1, พันธุ์เอฟเวอเรส ไอบริส, พันธุ์ซากาตะมิโน, ซัมเมอร์ครอบ ไฮบริด และลูกผสมของบริษัทต่างๆ เช่นตราเครื่องบินตรา ศรแดง ตราปลา เป็นต้น

2. การเตรียมดินไถดินตากไว้ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว พรวนดิน ชักร่องขึ้นแปลง

3. การปลูกหลังจากเตรียมดินขึ้นแปลงแล้ว หยอดเมล็ดพันธุ์ผักกาดหัวลงดิน ระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 25 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวประมาณ 30 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางข้าว รดน้ำให้ชุ่ม จนกว่าต้นกล้างอกมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกให้เหลือจุดละ 1 ต้น

4. การให้น้ำควรให้น้ำผักกาดหัวอย่างพอเพียงเช้าและเย็น ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งผักกาดหัวได้อายุเก็บเกี่ยว เพราะถ้าผักกาดหัวขาดน้ำ จะทำให้ขนาดและคุณภาพของหัวด้อยลงไป

5. การใส่ปุ๋ยผักกาดหัวจะแบ่งการใส่ปุ๋ย เป็น 2 ครั้ง คือ หลังจากถอนแยกใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ และครั้งที่สองเมื่ออายุได้ 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

6. การกำจัดวัชพืชวัชพืชที่ขึ้นมาต้องคอยถอนออกอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้วัชพืชแย่งน้ำ และอาหารตลอดจนเป็นพืชอาศัยของแมลงศัตรู

7. การเก็บเกี่ยวปกติพันธุ์ผักกาดหัวพันธุ์เบาจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 42-50 วัน พันธุ์กลางอายุประมาณ 60-70 วัน และพันธุ์หนักอายุประมาณ 70-90 วัน โดยถอนด้วยมือตัดใบพร้อมก้านให้เหลือประมาณ 10 นิ้ว ล้างน้ำให้สะอาดก่อนถอนผักกาดหัวควรสังเกตหัวไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป

8. โรคและแมลงศัตรูผักกาดหัวโรคและแมลงศัตรูผักกาดหัวตลอดจนสารป้องกันกำจัดเหมือนกับกะหล่ำปลี คะน้า และพืชตระกูลกะหล่ำอื่นๆ

สรรพคุณ

หัว มีรสเฝื่อนฉุน คั้นน้ำกินเป็นยาบำรุงประสาท แก้อาการผิดปกติของหลอดลมและทรวงอก แก้อาเจียนเป็นโลหิต รากทำให้สุกเป็นยาระลาย สมานลำไส้ บำรุงม้าม ขับลม เรียกน้ำลาย บำรุงเลือด แก้คัน แก้โรคริดสีดวงทวาร แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ

ทั้งต้น มีรสเฝื่อนขม ช่วยเจริญอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้เจ็บคอ ขังเสมหะ ต่อมน้ำนมบวม น้ำนมคั่ง ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย

ใบสด มีรสเฝื่อนขม คั้นน้ำทาแก้ผิวหนังเป็นผื่นคัน แผลมีน้ำเหลือง

ดอก มีรสขม ช่วยขับน้ำดี

เมล็ด มีรสเผ็ดชุ่มสุขุม ช่วยระบายท้อง ย่อยอาหาร แก้ท้องอืดแน่น แก้บิด แก้บวม แก้หอบ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ละลายก้อนนิ่ว

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: พืชผัก, พืชผัก ย-ฮ, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news