banner ad

กาแฟ

| June 18, 2014

กาแฟ

กาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย ที่ทำรายได้ให้เกษตรกรปีละประมาณ 2 พันล้านบาท ในอดีตเกษตรกรชาวสวนกาแฟนิยมเพาะเมล็ดสำหรับใช้ปลูกต่อเนื่องกันมาทั้งกาแฟอะราบิกา (Coffea arabica) และโรบัสตา (Coffea robusta)

ด้านการผลิต

ปี 2566 พื้นที่ปลูก 236,377 ไร่ ผลผลิตรวม 16,575 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 81 กิโลกรัมต่อไร่
ปี 2565 เนื้อที่ให้ผล 202,812 ไร่ ผลผลิตรวม 18,659 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 92 กิโลกรัมต่อไร่
ปี 2564 เนื้อที่ให้ผล 228,705 ไร่ ผลผลิตรวม 21,775 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 95 กิโลกรัมต่อไร่

ปี 2563 มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมประมาณ 361,713 ไร่ จำนวนครัวเรือนเกษตรกร 43,020 ราย โดยเนื้อที่ปลูกอยู่ในภาคใต้ร้อยละ58.47 ภาคเหนือร้อยละ 39.82 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.86 และภาคกลางร้อยละ0.85 เนื้อที่ให้ผล ปี 2563 รวมทั้งประเทศ 218,301 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 24,045 ตัน ผลผลิตต่อไร่ ทั้งประเทศ 110 กิโลกรัมต่อไร่มีการส่งออกกาแฟทั้งในรูปแบบเมล็ดกาแฟ และผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยในปี 2562 มีปริมาณการส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ 383.33 ตัน มูลค่า 84.33 ล้านบาท ส่วนการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว มีปริมาณ 145.48 ตัน มูลค่า 40.17 ล้านบาท สำหรับกาแฟสำเร็จรูป มีปริมาณการส่งออก 2,666.70 ตัน มูลค่า 574.40 ล้านบาท

การส่งออก การส่งออกเมล็ดกาแฟและกาแฟสำเร็จรูป ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย.) ของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ 282.35 ตัน มูลค่า 58.16 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.34 และร้อยละ 20.85 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว มีปริมาณ 86.94 ตัน มูลค่า 23.34 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 47.15 และ 24.61 ตามลำดับ สำหรับกาแฟสำเร็จรูปมีปริมาณการส่งออก 6,196.17 ตัน มูลค่า 522.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.99 และ 20.86 ตามลำดับ และกาแฟสำเร็จรูปผสม มีปริมาณการส่งออก 5,582.53 ตัน มูลค่า 1,724.29 ล้านบาท โดยปริมาณลดลงร้อยละ 0.86 ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.91 ตามลำดับ

การนำเข้า การนำเข้าเมล็ดกาแฟและกาแฟสำเร็จรูป ปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบ 61,982 ตัน มูลค่า 5,424 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่ว มีปริมาณ 1,671 ตัน มูลค่า 884 ล้านบาท สำหรับกาแฟสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้า 9,411 ตัน มูลค่า 3,230 ล้านบาท กาแฟสำเร็จรูปอื่นๆ มีปริมาณการนำเข้า 6,890 ตัน มูลค่า 1,169 ล้านบาท

ผลผลิตกาแฟโลก ปี 2566  ประมาณ 10.29 ล้านตันต่อปี ประเทศที่ผลิตกาแฟมากที่สุด ได้แก่ บราซิล เวียตนาม โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และฮอนดูรัส ราคาผลกาแฟอะราบิก้า 24.82 บาท ราคาสารกาแฟโรบัสต้า 66.75 บาท ประเทศที่นำเข้ากาแฟมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป  สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น  ฟิลิปปินส์  และรัสเซีย

สถานการณ์ ปี 2561 : กาแฟทำรายได้ให้กับเษตรกรปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท การขยายตัวของเมล็ดกาแฟจากปี 2557 ประมาณ 75,000 ตันมาปี 2561 ประมาณ 95,000 ตัน

กาแฟ ปี 2561 ให้ผลผลิต 257,761 ไร่ ผลผลิต 23,617 ตัน แหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร  ระนอง ประจวบฯ และกระบี่ แหล่งปลูกอะราบิก้าที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก

1.พันธุ์อะราบิก้า 75,547 ไร่ ผลผลิต 9,772 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 129 กก.

2.พันธุ์โรบัสต้า 182,214 ไร่ ผลผลิต 13,845 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 76 กก.

ราคาเมล็ดกาแฟโรบัสตาที่เกษตรกรขายได้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 64.94 บาท ในปี 2556/57 เป็นกิโลกรัมละ 69.74 บาท ในปี 2560/61 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.37 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของโรงงานแปรรูป ประกอบกับเมล็ดกาแฟของไทยมีคุณภาพดี ส่งผลให้ราคารับซื้อสูงกว่าราคาตลาดโลก ราคาเมล็ดกาแฟที่เกษตรกรขายได้เดือนมกราคม 2563 เฉลี่ย กิโลกรัมละ 62.87 บาท

การนำเข้า-ส่งออกกาแฟของไทย ปี 2562

รายการ การนำเข้า การส่งออก
ปริมาณ(ตัน) มูลค่า (ล้านบาท) ปริมาณ(ตัน) มูลค่า (ล้านบาท)
กาแฟดิบยังไม่ได้คั่ว 44,831 2,523 383 84
กาแฟคั่วรวมทั้งที่บดแล้ว 3,238 822 146 40
กาแฟผงสำเร็จรูป 7,212 1,837 2,666 574
กาแฟสังเคราะห์และของปรุงแต่งจากกาแฟ 6,873 1,054 24,521 2,532

กาแฟ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เมล็ดกาแฟอะราบิกา (มกษ.5701-2561) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเมล็ดกาแฟอะราบิกาให้ได้มาตรฐาน และได้มีแผนพัฒนากาแฟที่มุ่งเน้นส่งเสริมการปลูกกาแฟคุณภาพตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices)

วิสัยทัศน์ : เป็นผู้นำการผลิต การแปรรูป และการค้ากาแฟคุณภาพในระดับเอเซียที่แข่งขันได้ในตลาดโลกภายใต้อัตลักษณ์กาแฟไทย

พันธกิจ : วิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลิตที่ทันสมัย พัฒนาเครือข่าย อัตลักษณ์กาแฟไทยให้มีมาตรฐานสากล

—————————————————————————————————————————————————-

พันธุ์กาแฟ

1.กาแฟอะราบิกา ได้แก่ เชียงใหม่ 80 (พันธุ์ Catimor CIFC7963-13-28)

2.กาแฟโรบัสตา ได้แก่ พันธุ์ชุมพร 2 (พันธุ์ FRT 65), พันธุ์ชุมพร 3 (พันธุ์ FRT 17), พันธุ์ชุมพร 4 (พันธุ์ FRT 09), พันธุ์ชุมพร 5 (พันธุ์ FRT 68)

——————————————————————————–

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเสียบยอด  การเพาะเมล็ดต้องใช้ถึง 2 ปี แต่ถ้าเสียบยอดจะเร็วกว่า

การปลูกกาแฟอะราบิกา

1. พื้นที่ปลูก ระยะห่างระหว่างต้น-แถว 2×2 เมตร หรือ 400 ต้นต่อไร่ ขนาดหลุมปลูก ดินดี 30x30x30 เซนติเมตร ดินเลว 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟตหลุมละ 100-200 กรัม และปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ 5 กิโลกรัมต่อหลุม ต้นกล้ามีใบจริง 4-5 คู่ อายุไม่น้อยกว่า 8-12 เดือน ปลูกช่วงเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน

2. การปลูก หากปลูกที่ลาดชัน ควรวางแนวปลูกขวางความลาดชัน หรือปลูกบนขั้นบันไดที่ทำขึ้นเพื่อขวางความลาดชันของพื้นที่ เพื่อชะลอการพังทลายของหน้าดิน ความกว้างของขั้นบันไดควรกว้างเท่ากับความกว้างของทรงพุ่มเมื่อต้นกาแฟโตเต็มที่แล้ว การทำพื้นที่ปลูกเป็นขั้นบันไดนอกจากจะช่วยชะลอการพังทลายของหน้าดิน ยังช่วยให้การให้ปูน ปุ๋ย และน้ำมีประสิทธิภาพดีขึ้น และการปลูกพืชหมุนเวียนบนขั้นบันไดจะช่วยยึดหน้าดินไว้ด้วย กาแฟพันธุ์เชียงใหม่ 80 เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองต่อแสงแดดและปุ๋ยสูงจึงไม่ควรปลูกกลางแจ้ง โดยเฉพาะพื้นที่ต่ำกว่า 1,000 เมตร ควรปลูกไม้บังร่มเงาก่อนการปลูกกาแฟอะราบิกาจะช่วยให้การเจริญเติบโตได้ดี แนะนำให้ปลูกใต้ร่มไม้ยืนต้น ได้แก่ 1. ไม้บังร่มชั่วคราว ควรเป็นไม้โตเร็ว และเป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น ทองหลางไร้หนาม แคฝรั่ง ขี้เหล็กอเมริกัน ควรใช้ในระยะปลูก 4×6 หรือ 6×6 เมตร และปลูกหลายชนิดสลับกัน 2. ไม้บังร่มถาวร ควรเป็นไม้พุ่มใหญ่ ทรงพุ่มกว้างและให้ร่มเงาในระดับสูง เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค พฤกษ์ ถ่อน กางหลวง ถั่วหูช้าง สะตอ เหรียง เป็นต้น ระยะปลูก 8×10 เมตร และควรปลูกหลายชนิดสลับกันกับไม้บังร่มชั่วคราว

3. การให้น้ำ ส่วนใหญ่พื้นที่ปลูกกาแฟอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ พื้นที่ปลูกควรมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอย่างน้อย 1,200-1,500 มิลลิเมตรต่อปี มีการกระจายน้ำฝนอย่างน้อย 5-8 เดือน ควรให้น้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ในกรณีพื้นที่ปลูกไม่มีแหล่งน้ำให้ใช้เศษวัชพืชหรือฟางข้าวคลุมบริเวณโคนต้นตั้งแต่หมดฤดูฝนโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกกาแฟกลางแจ้ง

การเก็บข้อมูล การเจริญเติบโตของกาแฟ

ด้านเชิงปริมาณ ขนาดเส้นรอบวง ผลผลิต

ด้านเชิงคุณภาพ เช็คปริมาณความหวานผลกาแฟอะราบิกาสุก โดยทั่วไปผลมีสีน้ำตาล 22 บริกซ์ สีชมพู 18 บริกซ์  สีเหลือง 20 บริกซ์ สีแดง 20 บริกซ์ มาตรฐานต้องมีความหวานมากกว่า 17 บริกซ์ คุณภาพกาแฟ cup test การต้านทานโรคราสนิม

การผสมพันธุ์ใช้ถึงชั่วที่ 6

ปัจจัยของแสงมีอิทธิผลต่อการเจริญเติบโตของกาแฟ ผลผลิต

————————————————————————————

การปลูกกาแฟโรบัสตา

1. พื้นที่ปลูก ปรับพื้นที่ให้เรียบ ขุดถอนรากไม้ หากเป็นพื้นที่ลาดเอียงต้องเตรียมพื้นที่ปลูกลักษณะเป็นขั้นบันได และปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดิน ระยะปลูก 3.0×3.0, 3.0×4.0 หรือ 3.5×3.5 เมตร ตามสภาพพื้นที่ หลุมปลูกขนาด 50x50x50 หรือ 30x30x30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 3-5 กิโลกรัม หรือหินฟอสเฟต 200-300 กรัม ถ้าดินมี pH ต่ำกว่า 5 ควรใส่ปูนขาวรองก้นหลุม กล้าปลูกต้องแข็งแรง มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร มีใบจริง 5-7 คู่ เป็นพันธุ์แนะนำ หรือพันธุ์ที่เกษตรกรเสียบยอดจากต้นที่คัดเลือกไว้

  • การเตรียมเมล็ดพันธุ์
    การขยายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าส่วนใหญ่จะใช้วิธีเพาะเมล็ด โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นพันธุ์ที่มีอายุประมาณ 8-10 ปี โดยเป็นต้นที่ให้ผลผลิตผลสดกาแฟเฉลี่ย 10 กก./ปี (สารกาแฟ 2 กก./ต้น/ปี) เมล็ดกาแฟสารเฉลี่ย 2 กก./ปี ขึ้นไป ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ข้อถี่,ก้านยาว, เมล็ดมีขนาดใหญ่ประมาณ 100 เมล็ดแห้งต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 15 กรัม ปราศจากโรคและแมลง โดยเลือกผลที่สุกเต็มที่ คือ ผลจะต้องมีเปลือกสีแดงจนถึงแดงคล้ำเก็บบริเวณกิ่งตรงกลางลำต้น ผลหนึ่งจะมีเมล็ดภายใน 2 เมล็ด นำเมล็ดสดมาแช่น้ำ ให้นำเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งไป ส่วนเมล็ดที่จมน้ำให้ใช้มือนวด เอาเปลือกออก จะได้กาแฟที่มีเมือกเหนียวติดอยู่ และมีเยื่อหุ้มเมล็ดอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแข็งปานกลาง การใช้เมล็ดเพาะใช้เพาะทั้งที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดหรือแกะเยื่อหุ้มเมล็ดออกก่อน แต่การเพาะที่มีเยื่อหุ้มอยู่ใช้เวลางอกนานกว่า เนื่องจากน้ำซึมจากเยื่อผ่านได้ยากในช่วงแรกของการเพาะ เพราะฉะนั้นการเพาะต้องใช้เวลานานกว่ารากและต้นอ่อนจะงอกออกจากเยื้อหุ้ม ทำให้การดูแลรักษาต้นพันธุ์ที่จะนำไปปลูกใช้เวลานาน สำหรับที่แกะเยื่อหุ้มเมล็ดออกจะงอกเร็วกว่า แต่ก็ต้องเสียเวลาในการแกะเยื่อหุ้ม เมล็ดกาแฟไม่มีการพักตัว และเมล็ดจะมีอายุสั้นตลอดจนความมีชีวิตจะลดลงภายหลัง 2 เดือน สำหรับกาแฟโรบัสต้า (Chin, 1980)
  • การเตรียมแปลงเพาะและการเพาะ
    ทำการเพาะภายในเรือนเพาะชำที่มีหลังคาให้แสงสว่างเล็กน้อย เช่น ซาแลนขนาด 50% ทางมะพร้าว กระบะใช้ซีแพคหรือวัสดุอื่นๆ กั้นทำเป็นกระบะเพาะแปลงตามขนาดที่ต้องการเมล็ด 1 กก. มีเมล็ดดีอยู่ประมาณ 1,600 – 2,200 เมล็ด วัสดุที่ใช้เพาะมี่ทราย 2 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน นำมาผสมเทลงกระบะเพาะ เกลี่ยให้เสมอกัน เหลือขอบกระบะไว้ประมาณ 5 ซม. ขึ้นไป รดน้ำเพื่อให้เสมอกันทั้งแปลง แบ่งแปลงเป็นแปลงย่อยๆ แต่ละแปลงย่อยกว้างประมาณ 1.2-1.5 ม. และเว้นช่องทางเดินประมาณ 0.5 ม. เมื่อเตรียมแปลงเรียบร้อยแล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำประมาณ 24 ชั่วโมง ล้างให้สะอาดผึ่งลมไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดแห้ง ไม่ติดกัน ง่ายต่อการเพาะ นำไปโรยในแปลงเพาะให้ทั่วทุกแปลงย่อยที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้สม่ำเสมอใช้วัสดุเพาะโรยด้านบนบางๆ อีกชั้นหนึ่งแล้วรดน้ำให้ชุ่มๆ ทุกวัน สำหรับการงอกถ้าเป็นเมล็ดที่แกะเยื่อหุ้มเมล็ดออกจะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ และจะงอกออกมาในช่วง 3-8 อาทิตย์ และจะงอกมากในช่วง 5-11 อาทิตย์ กาแฟเริ่มงอกพ้นดิน (หมายถึงเมล็ดจะเริ่มงอกรากแล้วค่อยๆ ยืดส่วนที่เป็นต้นอ่อนขึ้นมาบนดินโดยเมล็ดยังคงนอนราบอยู่บนดิน จะมีลักษณะโค้งงออยู่ และค่อยยืดตรง ระยะที่เมล็ดตั้งตรงถือเป็นระยะวัดความงอก) เมล็ดเมื่อเริ่มงอกส่วนที่ยังเป็นเมล็ดจะค่อยพองโตขยายออกเรื่อยๆ จนปริแตกออกเป็นใบสีเขียวโผล่ให้เห็นเพียงเล็กน้อยแล้วค่อยแตกออกจนสลัดเยื่อบางๆ ที่หุ้มออก จะเห็นใบมีลักษณะกลมๆ 2 ใบ คลี่ออกมาหมด เรียกว่า ใบเลี้ยง ใช้เวลาประมาณ 39-44 วัน หลังเพาะ (แกะเยื่อหุ้ม) 53-55 วัน (ไม่แกะเยื่อหุ้ม) หลังจากนั้น ส่วนยอดระหว่างใบเลี้ยงทั้ง 2 จะมีลักษณะแหลมๆ ขึ้นมาเรียกว่าใบจริง ใช้เวลา 59-60 วัน (แกะเยื่อหุ้ม) 71-75 วัน (ไม่แกะเยื่อหุ้ม) เพราะฉะนั้น จากเพาะถึงย้ายชำลงถุงได้ก็ประมาณ 90 วัน (แกะเยื่อหุ้ม) 100 วัน (ไม่แกะเยื่อหุ้ม)
  • การเตรียมถุง
    ใช้ถุงขนาด 2.5”× 7” วัสดุที่ใช้บรรจุถุงสำหรับชำต้นกาแฟมีส่วนผสม 1:2:3 คือ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 2 ส่วน ดิน 3 ส่วน ผสมเข้าด้วยกัน นำบรรจุถุง เตรียมไว้สำหรับใส่ต้นกล้าที่มีใบจริงประมาณ 1 คู่ เมื่อบรรจุถุงเสร็จนำมาเรียงไว้ในเรือนเพาะชำที่มีแสงสว่างส่องถึงเพียงเล็กน้อย นำต้นกล้ามาชำลงในถุง รดน้ำให้ชุ่ม ตั้งไว้จนเห็นต้นแข็งแรงดีแล้วจึงตั้งไว้ในที่มีหลังคาเรือนเพาะชำแสงแดดส่องถึงประมาณ 50%
  • การดูแลรักษา
    เมื่อขยายพันธุ์เสร็จเก็บไว้ในเรือนเพาะชำที่แดดส่องถึง หรือใช้ซาแลน 50% ทำหลังคา รดน้ำทุกวัน หลังจากชำลงถุง 1 เดือน เริ่มฉีดพ่นปุ๋ยยูเรีย อัตรา 2 ช้อนแกง (20 กรัม) ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือปุ๋ยน้ำสูตร 11-8-6 120-150 cc ต่อน้ำ 20 ลิตร 2 อาทิตย์ ฉีดพ่น 1 ครั้ง ฉีดยาป้องกันโรคแมลงอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง อายุประมาณ6 เดือน หลังจากนำต้นกล้าชำในถุง ก็สามารถนำไปปลูกได้

2. การปลูก ปลูกในช่วงต้นฝน โดยปลูกเสมอปากหลุมปลูก ปักหลักไม้ผูกต้นกล้าป้องกันลมพัด ต้นกาแฟโยก ควรให้น้ำต่อเนื่องหลังจากปลูก 2-3 สัปดาห์หากไม่มีฝนตก ทำร่มเงาชั่วคราวให้ต้นกล้า กรณีปลูกเป็นพืชเดี่ยว ปลูก 170 ต้น/ไร่ หากปลูกแซมมะพร้าว ทุเรียน ปลูกประมาณ 100 ต้น/ไร่ กรณีปลูกร่วมทุเรียนควรปรับระยะปลูกให้เหมาะสมเนื่องจากกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตัวอย่างการปลูกร่วมกับทุเรียน ระยะ 8×8 เมตร ควรปลูกห่างจากต้นทุเรียน 3 เมตร เนื่องจากต้นกาแฟมีทรงพุ่มขนาดใหญ่ จะเหลือพื้นที่ระหว่างแถวน้อยไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยว การขนย้ายผลผลิต และดูแลรักษา ดังนั้นควรปลูกให้ห่างต้นทุเรียนมากขึ้น หรือลดจำนวนแถวปลูกลง กรณีปลูกแซมพืชอื่น ควรปลูกพืชให้ร่มเงาก่อนปลูกกาแฟ   6-12 เดือน เช่น สะตอ ใช้ระยะปลูก 15×15 เมตร, แค ใช้ระยะปลูก 12×12 เมตร, กระถิน ใช้ระยะปลูก 9×9 เมตร เป็นต้น

3. การให้น้ำ กาแฟส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ พื้นที่ปลูกกาแฟควรมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200-1,500 มิลลิเมตรต่อปี เกษตรกรควรดูแลให้ดินชื้นสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงหลังปลูกใหม่ ๆ ตั้งแต่ช่วงที่ต้นกาแฟยังมีขนาดเล็กจนกระทั่งให้ผลผลิตใน 1 รอบการผลิต

——————————————————————————

4. ศัตรูพืชกาแฟโรบัสต้าและการป้องกันกำจัด

1. มอดเจาะผลกาแฟ (coffee berry borer) เมล็ดกาแฟมีลักษณะเป็นรอยเจาะทำให้เมล็ดเสียหายเวลาลอยน้ำจัดเป็นเมล็ดเสีย พ่นสารไตรอะโซฟอส 40% อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเชื้อราบูเวเรีย บัสเซียน่า อัตรา 75 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นทุก 7 วัน เมื่อพบการระบาดเกิน 5%

การป้องกันกำจัด : การเก็บเกี่ยวกาแฟ ควรเก็บผลผลิตให้หมดต้นไม่ให้ติดค้างอยู่บนต้นหรือร่วงหล่นตามพื้นดินใต้ต้น

2. เชื้อราที่เกิดในลานตากกาแฟ Aspergillussp. จะเกิดเชื้อราในระหว่างการตากกาแฟเนื่องจากกาแฟโดนฝนและความชื้น

การป้องกันกำจัด

- ทำความสะอาดเก็บกวาดเศษซากพืชหรือเศษเมล็ดกาแฟที่ตกค้างบนลานตากเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อ

- เมื่อพบเมล็ดกาแฟติดเชื้อรา รีบเก็บออกนำไปทิ้ง เผาทำลาย

- หลีกเลี่ยงการตากกาแฟไม่ให้โดนฝน ควรมีหลังคาหรือผ้ากันความชื้นในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันน้ำค้าง

ศัตรูพืชกาแฟอะราบิก้าและการป้องกันกำจัด

ในระยะสุกแก่

1. โรคราสนิม เป็นได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ เริ่มแรกใบเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ จุดสีเหลืองจะขยายใหญ่และเปลี่ยนเป็นสีส้ม ต่อมาจะมีผงสีส้มคล้ายสีสนิมกระจาย ทำให้ใบเป็นโรคถูกทำลายและร่วงในที่สุด ทำให้ผลผลิตกาแฟลดลง

การป้องกันกำจัด

ก. หมั่นเก็บกวาดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

ข. เกษตรกรควรปลูกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ได้แก่ สายพันธุ์ คาติมอร์ CIFC 7963

ค. ในฤดูถัดไป พ่นด้วยสารไตรอะดิมีฟอน 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ออกซีคาร์บอกซิน อัตรา 12 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 3-4 ครั้งต่อปีในฤดูฝน โดยเริ่มครั้งแรกเดือนมิถุนายน และครั้งต่อไปควรห่างกัน 5 สัปดาห์

2. โรคแอนแทรคโนส (โรคใบไหม้สีน้ำตาล/โรคกิ่งแห้ง/โรคผลแห้ง)

อาการที่ใบ: พบได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล เนื้อเยื่อกลางแผลตาย เมื่อรุนแรงจะเป็นแผลขนาดใหญ่ ทำให้ใบไหม้

อาการที่กิ่ง: ทำให้เกิดการไหม้บนกิ่งเขียวทำให้กิ่งแห้งทั้งกิ่ง

อาการที่ผล: พบได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ เริ่มแรกผลเป็นจุดสีน้ำตาล เมื่อรุนแรงแผลจะมีรูปร่างไม่แน่นอน ยุบตัว หากพบที่ผลอ่อนจะทำให้ผลไม่พัฒนาเป็นเมล็ด เปลี่ยนเป็นสีดำ หากพบที่ผลแก่ทำให้สุกแก่เร็วขึ้น

การป้องกันกำจัด

ก. ตัดกิ่ง ใบ และเก็บผลทีเป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

ข. ตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่ม ให้โล่ง โปร่ง ให้มีแสงแดดลอดผ่านได้

ค. ให้ปุ๋ยบำรุงต้นเพื่อให้ต้นกาแฟมีความแข็งแรง

3. การเข้าทำลายของมอดเจาะผลกาแฟ จะเข้าทำลายช่วงผลดิบ ทำให้เมล็ดถูกทำลายเสียหาย

การป้องกันกำจัด

ก. การเก็บเกี่ยวกาแฟ ควรเก็บผลผลิตให้หมดต้นไม่ให้ติดค้างอยู่บนต้นหรือร่วงหล่นตามพื้นดินใต้ต้น

ข. ถ้าการระบาดรุนแรงให้เลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 80-95 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

นโยบายกาแฟ การส่งเสริมการค้า ได้มีการเปิดตลาดตามข้อตกลง WTO จัดสรรปริมาณนำเข้าเมล็ดกาแฟในโควตา 5.25 ตัน อัตราภาษี ร้อยละ 30 และ ผลิตภัณฑ์กาแฟ ในโควตาปริมาณ 134 ตัน อัตราภาษี ร้อยละ 40 และการนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง AFTA อัตราภาษีนำเข้า เมล็ดกาแฟ ร้อยละ 5 ส่วนเมล็ดกาแฟคั่ว และผลิตภัณฑ์กาแฟอัตราภาษี ร้อยละ 0  จากการเปิดตลาดฯ และปริมาณผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อเกษตรกร ดังนั้นการนำเข้ากาแฟภายในกรอบ AFTA จึงอยู่ในความดูแลของคณะอนุกรรมการพืชสวน (ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เป็นผู้พิจารณาอนุญาตนำเข้า โดยยื่นขอการนำเข้าที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ด้านการพัฒนากาแฟไทย ยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560 – 2564 เน้นการบริหารจัดการแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ บนพื้นฐานของศักยภาพ และอัตลักษณ์ของกาแฟไทย พัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตในระดับฟาร์มถึงผู้บริโภค โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟสู่มาตรฐานสากล การผลิตกาแฟเฉพาะถิ่น และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปกาแฟ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแปรรูปกาแฟของอาเซียน (Coffee Processing Hub of ASEAN) และเป็นผู้นำสินค้ากาแฟในอาเซียน  ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากาแฟแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เป็นการกำหนดจุดยืนใหม่ของการพัฒนายุทธศาสตร์กาแฟและกำหนดทิศทางการพัฒนากาแฟไทยแบบเชิงรุก เป็นแนวทางขับเคลื่อนทั้งภาคการผลิต การแปรรูป และการตลาดของกาแฟไทย เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์กาแฟมีแผนปฏิบัติเป็นตัวขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตามทิศาทางการพัฒนายุทธศาสตร์กาแฟ 4.0

 

ปัญหาของอุตสาหกรรมกาแฟ

ต้นน้ำ (เกษตรกร)

1. ขั้นตอนการผลิตที่มีรายละเอียด ต้นทุนการผลิตที่สูงและหนี้ครัวเรือนทำให้เกษตรกรไม่กล้าเปลี่ยน

2. ขาดความรู้ในการเพิ่มมูลค่าหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ขายได้ราคาต่ำ

3. พื้นที่ส่วนใหญ่ในการปลูกกาแฟอะราบิกาไม่มีเอกสารสิทธิ์

กลางน้ำ (โรงคั่ว)

1. โรงคั่วกาแฟวิสาหกิจชุมชนบางแห่งยังขาดมาตรฐานและความรู้การคั่วกาแฟแต่ละชนิด

2. เกษตรกรที่ต้องการลงทุนทำกาแฟคั่วบดยังขาดความเชี่ยวชาญ และเงินทุนดำเนินการ

ปลายน้ำ (ร้านกาแฟ)

1. ผู้บริโภคยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับกาแฟโรบัสตา ทำให้ร้านกาแฟส่วนใหญ่ยังไม่กล้านำมาขาย

ปัญหาของการปลูกกาแฟ ได้แก่

1) เกษตรกรไม่ให้ความสำคัญในการคัดเลือกพันธุ์ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุน มีแรงจูงใจที่เพียงพอ รวมทั้งการเข้าถึงพันธุ์ดีที่เหมาะสมมีน้อย ทำให้ผลผลิตต่ำไม่ต้านทานโรค ไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2) พื้นที่ปลูกกาแฟมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทุเรียน ทำให้เกษตรกรโค่นกาแฟทิ้ง

3) พื้นที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธ์ทำให้ไม่ได้รับการ การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น การรับรองแปลง GAP เพื่อเพิ่มมูลค่าและมาตรฐานของกาแฟ

4) ระบบการปลูกกาแฟแบบเดิม เป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีการรวมกลุ่มกัน

5) เกษตรกรไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตกาแฟที่เหมาะสม การจัดการดิน การเกษตรกรรม เครื่องมือ เครื่องจักรกล

6) สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้โรคและแมลงเกิดการปรับตัวสร้างความหลากหลาย และความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เช่น โรคราสนิม โรคแอนแทรกโนส และการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟ ส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพของกาแฟเป็นอย่างมาก

         ผลกระทบที่ตามมาคือ ปริมาณกาแฟที่ผลิตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

———————————————————————————————————————————–

มุมมองของกาแฟ

สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐสร้างความเข้มแข็งในมาตรฐานของ GAP, GMP และมาตรฐานอื่น ๆ หรือมีองค์กรกลางในการพัฒนาส่งเสริมมาตรฐาน เช่น CCQ – Certified Coffee Quality laboratory และสร้างเกษตรกรต้นแบบ (smart farmer) ส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟให้มีความหลากหลายและได้มาตรฐาน โดยใช้วัตถุดิบจากกาแฟแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และปลอดวัสดุเหลือใช้ (Zero Waste) และส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร/ เครือข่าย โดยการยกระดับอัตลักษณ์ของกาแฟอะราบิกาชุมชน ให้มีความแปลกใหม่มีเอกลักษณ์ โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ แปรรูปกาแฟให้มีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น หรือชุมชนนั้นๆ มีเรื่องราว (story) โดยสร้างแบรนด์เฉพาะของประเทศไทย เช่น กาแฟอะราบิกา Thailand Only การจัดกิจกรรมประกวดกาแฟ เพื่อค้นหาเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดี และรณรงค์และส่งเสริมให้ผู้ปลูกกาแฟตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตกาแฟมีคุณภาพและแสดงถึงอัตลักษณ์กาแฟไทยตลอดจนส่งเสริมและพัฒนากาแฟไทยให้มีคุณภาพดีสู่ระดับโลก เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้และความยั่งยืนแก่เกษตรกร

การชิมทดสอบรสชำติเมล็ดกำแฟ (Cupping Standard)

1 อัตราส่วนกาแฟต่อน้ำ  8.25 กรัม (เต็มเมล็ด) (± 0.25 กรัม) ต่อ น้้ำ 5.07 ออนซ์ของเหลว (150 มิลลิลิตร) เมื่อปรับจากขนาดของภาชนะจะต้องใช้อัตราส่วนกาแฟ 1.63 กรัม (เต็มเมล็ด) ต่อน้ำ 1 ออนซ์ของเหลว (หรือ 0.055 กรัมกาแฟต่อน้ า 1 มิลลิลิตร)

2 ภาชนะสำหรับการชิมทดสอบรสชาติ (Cupping Vessel)

-ภาชนะบรรจุจะต้องเป็นแก้วหรือวัสดุเซรามิกขนาดจะอยู่ระหว่าง 7 และ 9 ออนซ์ของเหลว (207 มล. ถึง 266 มล.) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 3 และ 3.5 นิ้ว (76 – 89 มม.) ถ้วยทั้งหมดที่ใช้ จะต้องมีปริมาตรขนาดและวัสดุการผลิตที่เหมือนกันและมีฝาปิด

-อุณหภูมิการชิมทดสอบรสชาติ (Cupping Water Temperature) ระหว่าง 92.2 – 94.4 องศาเซลเซียส

-น้้ำที่ใช้ในการชิมทดสอบรสชาติ (Cupping Water) สะอาด ไม่มีกลิ่นคลอรีน ตะกอนแคลเซียมไม่เกิน 50-175 ppm CaCO3 ปริมาณ Alkalinity ไม่เกิน 40 ppm ค่า pH 6-8 เช่น น้ำ select

-ขนาดการบดเมล็ดกาแฟจะต้องบดเพื่อให้ 70-75 เปอร์เซ็นต์ของการบด ผ่านตะแกรงตาข่ายเบอร์ 20 (0.841 mm)

-การคั่วเมล็ด(Roast for Cupping) ใช้เวลาระหว่าง 8 และ 12 นาที และจะต้องนำมาใช้  8 และ 24 ชั่วโมงหลังจากการคั่ว

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)

Horticultural Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: VDO, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ก-ณ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news