banner ad

ส้มเขียวหวาน

| February 10, 2014
ชื่อต้น : ส้มเขียวหวาน
ชื่อสามัญ : mandarin, tangerine
พันธุ์ส้มเขียวหวาน ได้แก่ พันธุ์โชกุน(สายน้ำผึ้ง) พันธุ์บางมด พันธุ์ฟรีมองต์ พันธุ์สีทอง
การขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งและติดตา
การเลือกซื้อกิ่งพันธุ์
  1. เป็นตาพันธุ์ดีที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
  2. เป็นยอดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป และมีตาพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ตา
  3. ต้นตอได้จากเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง/พันธุ์เฉพาะที่ต้องการ ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง มีขนาดใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดี
  4. ต้นพันธุ์ที่ติดตาแล้ว  ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 4×9 นิ้ว
  5. ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของ ดิน : แกลบดิบ/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่
  6. รอยแผลจากการติดตาต้องประสานสนิท และต้องนำวัสดุที่พันรอยแผลออก
  7. ต้นพันธุ์มีความสูงไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร โดยวัดจากโคนต้นในระดับดินถึงปลายยอด
  8. ต้นพันธุ์ที่พร้อมจำหน่ายต้องมีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหารหรือการทำลายของโรคและแมลง
  9. ต้องชำในภาชนะที่บรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือน หากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
  10. ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้
วิธีการปลูก:  การปลูกเตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายตัว ใช้ระยะปลูก 4×6 หรือ 6×6 เมตร ติดดอกออกผลช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ อายุเก็บเกี่ยว 8.5-10 เดือนหลังการติดผล
การดูแลรักษา: ระยะเจริญเติบโตให้น้ำปกติ ระยะออกดอกต้องการน้ำน้อย ระยะติดผลถึงผลแก่ต้องการน้ำมากขึ้น ระยะผลส้มเข้าสีแล้วลดปริมาณน้ำลง การให้ปุ๋ยตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 1 ปี ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปุ๋ยเคมี เช่น 20-10-10 ผสม 46-0-0 (1:1) อัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี สำหรับต้นอายุ 2-4 ปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 20 กิโลกรัมต่อต้น และใส่ปุ๋ยเคมีส่วนผสมเดียวกันอัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น (แบ่งใส่ 3-4 เดือนต่อครั้ง) ส้มอายุ 4 ปีขึ้นไป (เริ่มให้ผลผลิต) ให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น และพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร (ก่อนออกดอก) ให้ปุ๋ยธาตุอาหารรองและอาหารเสริม เช่น แคลเซียม ทองแดง แมงกานีส เป็นต้น (ระยะติดผล) ให้สูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น (ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว)
โรคและการป้องกันกำจัด
1. โรคกรีนนิ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีแมลงเพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Diaphorina citri ) ลักษณะการเข้าทำลายที่ใบจะมีสีเหลืองขณะที่เส้นกลางใบ และเส้นแขนงมีสีเขียว ขนาดใบเล็กลงและเรียวยาว ยอดเล็กและ ตั้งชี้ การป้องกันกำจัดโดยพ่นอิมิดาโคลพริด ในอัตรา 8 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ส้มซึ่งเป็นพาหะนำโรคกรีนนิง
2. โรคทริสเตซ่า เกิดจากเชื้อไวรัส มีแมลงเพลี้ยอ่อนส้ม (Toxoptera citricidus) เป็นพาหะนำโรค เชื้อนี้อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อส้ม ใบอ่อนมีสีเขียวซีดหรือด่างคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร เส้นใบแสดงอาการโปร่งใสเป็นขีดสั้นๆ และมีลำต้นเป็นแอ่งบุ๋ม
3. โรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora parasitica) เป็นเชื้อราในดิน อาการส้มใบเริ่มเหลืองสลดลง จนในที่สุดใบจะร่วงหรือแห้งยืนต้นตาย การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นฟอสฟอรัสแอซิด อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
4. โรคแคงเกอร์ ลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำใสๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น และตรงกลางแผลจะค่อยๆ เห็นเป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนๆ พบเห็นได้ทั้งด้านหน้าใบและหลังใบ โดยจะมีวงฉ่ำน้ำใสๆ ล้อมรอบแผลตกสะเก็ดนั้น เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้นบริเวณสะเก็ดตรงกลางแผลจะขยายใหญ่ขึ้นและมองเห็นเป็นวงซ้อนๆกัน ต่อมาใบจะเหลืองแห้งและหลุดร่วงไป บริเวณกิ่งอ่อนและผลลักษณะของแผลเป็นแผลเป็นแผลตกสะเก็ดนูน สีน้ำตาลรูปร่างไม่แน่นอน แต่ไม่พบลักษณะฉ่ำน้ำใสๆ รอบๆ แผลเหมือนกับที่เกิดบนใบ แผลขนาดใหญ่ที่เกิดกับผลจะแตกบริเวณกลางแผล และแผลยุบตัวลงไปผลที่เป็นโรคมากๆ อาจจะร่วงหล่นได้ การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77 % อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ไฮดลอไรด์ 85 % อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบโรคเข้าทำลายและพ่นซ้ำทุกๆ 7-10 วัน
แมลง ไรศัตรูส้ม และการป้องกันกำจัด
1. เพลี้ยไฟพริก พบการระบาดช่วงยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยง หากระบาดมากทำให้ตาไม่แตก ใบพองเป็นลูกฟูก และแห้งกรอบในที่สุด ผลอ่อนอาจชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ผลส้มมีริ้วรอย การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น อิมิดาโคลพริด อัตรา 10-20 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโคลไทอะนิดิน 60%sc  อัตรา 8 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
2. เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อนส้มที่แตกใหม่ ยอดจะหงิกงอและแห้งตายได้ เป็นพาหะของโรคกรีนนิ่ง
3. เพลี้ยอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนส้ม ทำให้ใบอ่อนม้วนและหงิกงอ ทำให้เกิดราดำบนใบ เป็นพาหะนำโรคไวรัสทริสเตซ่า การป้องกันจำกัดโดยฉีดพ่น คาร์โบซัลแฟน อัตรา 40 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
4. หนอนชอนใบส้ม หนอนกัดกินเนื้อใบใต้เยื่อผิวใบและชอนไชอยู่ระหว่างผิวใบ การทำลายทั้งด้านหลังใบและหน้าใบ มองเห็นเป็นฝ้าสีขาวกวนตามทางที่หนอนทำลาย ทำให้ใบหงิกงอ และลดประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงของใบ เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เชื้อสาเหตุของโรคแคงเกอร์ เข้าทำลายได้ง่าย การป้องกันกัดโดยฉีดพ่น อิมิดาโคลพริด อัตรา 8 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
5. หนอนแก้วส้ม กัดกินใบอ่อนและใบเพสลาด เมื่อพบเห็นเก็บตัวทำลายได้เลย
6. ไรแดงแอฟริกัน ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบส้มด้านหน้าใบทำให้ใบส้มเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางหรือชีดและหน้าใบเป็นมันและเป็นคราบฝุ่นหรือผงสีขาวอยู่ตามบริเวณหน้าใบ นอกจากนี้ทำลายผลส้มอ่อนอาจทำให้ผลเปลี่ยนเป็นสีชีดและกระด้าง การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น อามีทราซ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
7. ไรสนิมส้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและผลส้ม ทำให้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลคล้ายสนิม หากทำลายในระยะผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโตได้ การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่น กำมะถัน อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออามีทราซ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ : ส้มเขียวหวานคุณค่าอาหารสูงมาก มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โซเดียม โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินบีคอมเพล็กซ์ เนื้อส้มช่วยเจริญอาหาร วิตามินซีในส้มรักษาโรคเหงือก ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ป้องกันโรคหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน ชานส้มช่วยขับถ่ายและป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ เปลือกส้มมีน้ำมันหอมระเหยที่นำมาใช้ทำยาบำรุง ใช้ทาใบหน้าป้องกันและรักษาสิวฝ้า

GAP ส้มเปลือกล่อน



By Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)

Category: GAP, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ย-ฮ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news