banner ad

ลำไย

| February 10, 2014

ชื่อต้น : ลำไย

ชื่อสามัญ : longan

สถานการณ์การผลิต
ปี 2567 เนื้อที่ให้ผล 1,662,157 ไร่ ผลผลิตรวม 1,362,575 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 820 กิโลกรัมต่อไร่
ปี 2566 เนื้อที่ให้ผล 1,667,636 ไร่ ผลผลิตรวม 1,388,180 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 832 กิโลกรัมต่อไร่ การส่งออกลำไยกระป๋อง ปี 2566 ส่งออกรวม 10,209 ตัน มูลค่า 766.81 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังมาเลเซียมากที่สุด (ปริมาณ 4,005 ตัน มูลค่า 264 ล้านบาท) รองลงมาได้แก่อินโดนีเซีย (ปริมาณ 1,538 ตัน มูลค่า 106 ล้านบาท)และจีน (ปริมาณ 689 ตัน มูลค่า 92 ล้านบาท)
ปี 2565 เนื้อที่ให้ผล 1,693,261 ไร่ ผลผลิตรวม 1,555,360 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 919 กิโลกรัมต่อไร่ อากาศหนาวเอื้ออำนวยต่อการออกดอก
ปี 2560 เนื้อที่ให้ผลลดลงเล็กน้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ยืนต้นตาย ราคาดีอยู่ที่ 33.02 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2559 เนื้อที่ให้ผลผลิต 1,052,256 ไร่ ผลผลิต 755,651 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 718 กก.
ประเทศที่ส่งออก ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย  ประเทศที่ผลิตลำไยมากที่สุดในโลก คือ จีน รองลงมาคือ ไทย และเวียดนาม โดยจีนมีเนื้อที่ให้ผล ประมาณ 2 ล้านไร่ และผลผลิตประมาณ 2 ล้านตัน  และเวียดนาม 7 แสนไร่
การขยายพันธุ์โดยการตอนและทาบกิ่ง
การเลือกซื้อกิ่งพันธุ์

1. เป็นกิ่งตอนที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดีตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP

2.เป็นกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป ความยาวไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร

3.กิ่งตอนที่ตัดมาชำ รากต้องมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด

4.ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 4×9 นิ้ว

5.ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของ ดิน : แกลบดิบ/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่

6.ต้องชำในภาชะที่บรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือน หากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม

7.ต้นพันธุ์มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหาร หรือการทำลายของโรคและแมลง

8.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้

พันธุ์ลำไยได้แก่ พันธุ์กะโหลก พันธุ์เบี้ยวเขียว พันธุ์เพชรสาคร พันธุ์สีชมพู พันธุ์แห้ว และพันธุ์อีดอ
วิธีการปลูก: ให้ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว ใช้ระยะปลูก 6×6 หรือ 6×8 เมตร
การดูแลรักษา: หลังการปลูกใหม่ควรมีการให้น้ำ ส่วนการให้ปุ๋ย ช่วงเพิ่มความสมบูรณ์ต้นควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้วอัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อต้น หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 และ 21-0-0 อัตรา 2:1 โดยน้ำหนักอัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้น ระยะก่อนการออกดอกพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ช่วงพัฒนาการของผลควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-5-20 อัตรา 1-3 กิโลกรัมต่อต้น และพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 46-0-0 อัตรา 30 กรัม และสูตร 0-52-34 อัตรา 10 กรัม และสูตร 13-0-46 อัตรา 60 กรัมตอน้ำ 20 ลิตร ทุก 7-10 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง เมื่อผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร
การให้ปุ๋ยทางใบ
1. เตรียมความพร้อมของต้นเพื่อการออกดอก : ฉีดพ่นปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34) อัตรา 150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกวัน อย่างน้อย 3 ครั้ง ในช่วงที่ใบชุดสุดท้ายอายุมากกว่า 60 วัน เพื่อให้ลำไยออก ดอกพร้อมกันและป้องกันการแตกใบอ่อน
2. การชักนำให้ต้นออกดอก : ฉีดพ่นโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในต้น ที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ให้ทั่วทั้งต้น
3. การส่งเสริมการพัฒนาผลและคุณภาพผล : เพื่อบำรุงผล สำหรับลำไยที่มีขนาดผลประมาณ 0.5 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 30 กรัม ร่วมกับปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34) อัตรา 10 กรัม และโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง
โรคศัตรูพืช และการป้องกันกำจัด
1. โรคราน้ำฝน สาเหตุ เชื้อรา Phytophthora capsici Leonian ลักษณะอาการ ใบอ่อนมีอาการเน่า ใบเพสลาด กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีอาการไหม้ สีน้ำตาลเข้ม ใบและยอดไหม้ และยอดแห้งตายอย่างรวดเร็ว มักพบเส้นใยสีขาวขึ้นฟู คลุมกิ่งอ่อนและยอด หากเข้าทำลายในระยะผลอ่อน เปลือกของผลและขั้วผลมีสีน้ำตาลเข้ม ถ้ามีฝนตกชุกติดต่อกัน พบเส้นใยสีขาวขึ้นฟูคลุมผล ต่อมาผลจะเน่า แตกและหลุดร่วง

การป้องกันกำจัด

1.1.หมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงฝนตกชุก ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาด เฝ้าระวังโดยเฉพาะก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน
1.2.กำจัดวัชพืช ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคและนำไปเผาทำลายนอกสวน
1.3.ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
1.4.ทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ตัดกิ่งเป็นโรคทุกครั้ง ก่อนนำไปตัดกิ่งปกติ
1.5.เก็บผลและใบที่เป็นโรค และที่ร่วงลงดิน ทำลายนอกแปลงปลูก
1.6.ช่วงที่มีการระบาด หรือในแปลงที่มีประวัติว่ามีการระบาดอยู่เสมอ หลังตัดแต่งกิ่งแล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 5060 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิลอะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิลเอ็ม+แมนโคเซบ 68 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3050 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วต้น ทุก 57 วัน และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 15 วัน
—————————————————————————————————-
2.โรคใบจุดดำ สาเหตุ เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Penz. & Sacc., Lasiodiplodia theobromae (Pat.) Griffon & Maubl., Pestalotiopsis sp., Curvularia sp. และ Nigrosora sp. ลักษณะอาการ เกิดแผลลักษณะกลมสีน้ำตาลอ่อนบนใบแก่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยสีขาวขึ้นบนแผล การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวให้โปร่ง ทำลายใบที่เป็นโรค พ่นด้วย เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม แมนโคแซบ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ สลับกันทุก 2 สัปดาห์ในช่วงฤดูฝน หรือพ่นอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นให้ทั่วต้น ทุก 57 วัน และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 15 วัน

—————————————————————————————————-

3.โรคพุ่มแจ้ หรือพุ่มไม้กวาด สาเหตุ เชื้อไฟโตพลาสมา ลักษณะอาการ ยอดหรือส่วนที่เป็นตาบริเวณกิ่ง เกิดอาการแตกยอดฝอย เป็นกระจุกคล้ายมัดไม้กวาด ใบเล็กและหงิกงอ กระจัดกระจายอยู่ทั่ว หากเป็นรุนแรง ทำให้ต้นลำไยมีอาการทรุดโทรม มักจะเกิดกับพันธุ์เบี้ยวเขียวและพันธุ์สีชมพู

การป้องกันกำจัด

3.1. ใช้เมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ หรือต้นพันธุ์ และอุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อ

3.2. ถอนทำลายวัชพืชและพืชอาศัย เพื่อลดปริมาณแมลงพาหะ

3.3. ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดเชื้อไฟโตพลาสมา

3.4. ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงพาหะ

—————————————————————————————————–

แมลงศัตรูพืช และการป้องกันกำจัด
1. เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ใบ ผลอ่อน ผลแก่ มีมดเป็นพาหะ ช่วยพาไปตามส่วนต่างๆ ของพืช ส่วนของพืชที่ถูกทำลายจะแคระแกรนและเกิดราสีดำ

การป้องกันกำจัด

1. หมั่นสำรวจเพลี้ยแป้ง หากพบไม่มากให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายนำไปทิ้งนอกแปลง

2. ป้องกันกำจัดมดโดยใช้ คาร์บาริล 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องใช้แล้วผูกรอบต้น

3. ใช้สารฆ่าแมลง ได้แก่ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

—————————————————————————————————–
2. หนอนเจาะขั้วConopomorpha sinensis Bradleyหนอนเริ่มเข้าทำลายเมื่อลำไยเริ่มติดผลได้ประมาณ 1 เดือน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ขณะผลลำไยยังมีขนาดเล็กน้ำหนักช่อน้อย ช่อผลลำไยอยู่ในสภาพชูขึ้น ผีเสื้อจะวางไข่อยู่ส่วนปลายของผลลำไย เมื่อหนอนฟักออกจากไข่ก็จะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผล มองดูภายนอกไม่เห็นรอยทำลาย เมื่อผ่าดูจึงเห็นรอยที่ถูกหนอนทำลาย ทำให้ผลที่ถูกทำลายไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลที่ถูกทำลายจึงร่วงหล่นหมด จำนวนหนอนที่พบ 1-3 ตัวต่อผล เมื่อผลลำไยมีขนาดโตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นช่อผลโค้งลง ผีเสื้อจะมาวางไข่อยู่บริเวณใกล้ขั้ว ดังนั้น การทำลายในระยะที่ผลลำไยเริ่มเปลี่ยนสี จึงพบหนอน หรือมูลหนอนอยู่ที่ขั้วผลเสมอ ทำให้ผลที่ถูกทำลายในช่วงนี้ร่วงหล่นได้ง่าย ถ้าไม่ร่วงชาวสวนยังขายได้ราคาดีอยู่ เพราะมองจากภายนอกไม่เห็นรอยทำลายเลย แต่ถ้าสังเกตดูให้ดีบริเวณใกล้ขั้วจะพบรูเล็กๆ ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นรูที่หนอนเจาะออกมาเข้าดักแด้ภายนอก

การป้องกันกำจัด

1. รวบรวมผลลำไยที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้น จากการทำลายของหนอนเจาะขั้วผลนำไปฝังหรือเผาทำลาย

2. ควรเก็บรวบรวมดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผล บนใบ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน แล้วนำไปทำลาย

3. หากมีการระบาดของหนอนเจาะขั้วผลรุนแรง ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง คลอร์ไพริฟอส/ไซเพอร์เมทริน 50%/5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

———————————————————————————————————-
3.เพลี้ยหอยเกราะอ่อน Drepanococcus chiton (Green) เป็นแมลงปากดูดที่ไม่ค่อยเคลื่อนที่รูปร่างรูปไข่ ผนังลำตัวมีไขปกคลุมเป็นแผ่นคล้ายกระดองเต่า ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ยอดอ่อน ช่อดอก ช่อผล ทำให้ แห้งเหี่ยว แคระแกรน มีราดำ
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่ง โดยเฉพาะส่วนที่ถูกเพลี้ยหอยทำลายไปเผา ใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกโคนต้นป้องกันมด ถ้าระบาดรุนแรงพ่นด้วยมาลาไธออน 83% อีซี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อเพลี้ยหอยอยู่ในช่วงตัวอ่อน และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน
———————————————————————————————————-
4.มวนลำไย Tessarotoma papillosa Drury ตัวเต็มวัยเป็นมวนขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมเหลือง ดูดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อน ช่อดอก ช่อผล ทำให้ยอดเหี่ยว ผลร่วง การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ใบหนาทึบจนเกินไปเพราะจะเป็นที่หลบซ่อนและ พักอาศัยของตัวเต็มวัยเพื่ออยู่ข้ามฤดู จับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ ทำลายเสีย ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มวนเริ่มจับกลุ่มและผสมพันธุ์และเป็น เวลาที่มวนลำไยว่องไวมาก ให้เขย่ากิ่งในเวลาเช้ามืด มวนจะทิ้งตัวตก ลงมาให้เก็บรวบรวมทำลายเสีย ส่วนไข่มวนลำไยมีขนาดใหญ่อยู่เป็น กลุ่มมองเห็นได้ง่ายการใช้สารฆ่าแมลงพ่นก่อนลำไยออกดอก ในเดือนธันวาคม สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผล และปลอดภัยสำหรับเกษตรกร ได้แก่ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 45-60 กรัม หรือ แลมป์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
———————————————————————————————————–
5.หนอนเจาะกิ่ง Zeuzera coffeae Nietner หนอนเจาะเข้าทำลายในกิ่งและลำต้น ทำให้กิ่งและลำต้นนั้นแห้ง หรือหักล้มเมื่อลมพัด ถ้าเป็นต้นใหญ่ๆ หนอนมักเข้าเจาะกินตามกิ่งที่อ่อน หรือกิ่งเล็กๆ ถ้าเป็นต้นเล็ก หนอนอาจเจาะเข้ากินที่ลำต้น ทำให้ลำต้นแห้งตายหรือหักล้ม
การป้องกันกำจัด ตัดกิ่งลำไยที่ถูกหนอนเจาะกิ่งทำลายแล้ว นำไปเผาไฟ เพื่อกำจัดหนอนและดักแด้ที่อยู่ในกิ่งนั้น ใช้สารเคมีถ้าตรวจพบรูหรือรอยทำลายบนกิ่งใหญ่ๆ หรือลำต้น ให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 1-2 มิลลิลิตรต่อรู ฉีดเข้าในรูแล้วอุดด้วยดินเหนียว
———————————————————————————————————–
6.หนอนชอนใบ Conopomorpha litchiella Bradley ใบที่ถูกทำลายมีอาการคล้ายโรคใบไหม้ มีสีน้ำตาลแดง หนอนเริ่มเจาะที่ฐานเส้นกลางใบแล้วเคลื่อนไปทางปลายใบก่อนถึงปลายใบ หนอนจะชอนไชเข้าไปในส่วนเนื้อของใบ ถ้ามีการระบาดรุนแรง ใบอ่อนจะถูกหนอนทำลายหมด
การป้องกันกำจัด

6.1. รวบรวมยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่มีรอยทำลายของหนอนชอนใบเผาทำลาย

6.2. เก็บดักแด้ของหนอนชอนใบ ซึ่งเจาะออกมาเข้าดักแด้ตามใบแก่ หรือใบเพสลาด ลักษณะรังดักแด้คล้ายรังดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผล แล้วนำไปทำลาย

6.3. ถ้ามีการระบาดของหนอนชอนใบรุนแรงขณะลำไยแตกใบอ่อน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
———————————————————————————————————–
7.ไรกำมะหยี่ลำไย Aceria longana Boczek and Knihinicki ใบอ่อนที่ถูกทำลายจะบิดม้วนงอ ลีบ เรียว ไม่เจริญเติบโต และแห้งหลุดร่วงไป หรือทำให้เกิดอาการแตกยอดอ่อนผิดปกติ มีลักษณะคล้ายพุ่มไม้กวาด กิ่งไม่ยืดยาว ถ้าทำลายระยะแทงช่อดอก จะทำให้ช่อดอกแตกพุ่มแจ้ติดกันเป็นกระจุก หลุดร่วงไม่ติดผล
การป้องกันกำจัด
7.1 ไรชนิดนี้ระบาดมากในลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว โดยเฉพาะต้นที่มีอายุมาก ส่วนพันธุ์อีดอและพันธุ์อื่นๆ พบน้อยกว่า จึงควรปลูกลำไย พันธุ์ต้านทานในแหล่งที่มีการระบาดของไรชนิดนี้
7.2 ตัดแต่งกิ่งและยอดที่ถูกไรทำลาย นำไปเผาทิ้ง
7.3 ถ้ามีการระบาดมากและไม่สามารถตัดแต่งกิ่งได้ หมดให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดไร โพรพาร์ไกต์ (propargite) 30% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หลังการเก็บเกี่ยวและตัดแต่งทรงพุ่ม พ่นซ้ำเมื่อลำไยแทงยอดใหม่ ไม่ควรพ่นสารเมื่อมีแดดจัด เพราะอาจทำให้ใบอ่อนไหม้ได้
———————————————————————————————————–
8. ผีเสื้อมวนหวาน พบช่อผลถูกทำลายเกิน 10% ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารคาร์บาริล

———————————————————————————————————

การใช้ฮอร์โมน

1. การเพิ่มขนาดและน้ำหนักผล

- สาร Brassinolide พ่นทั่วต้นเมื่อผลอายุ 100 วันหลังติดผล และพ่นครั้งที่ 2 หลังพ่นครั้งแรก 7-10 วัน

2. การชักนำให้ออกดอกนอกฤดูกาล

- สาร Sodium chlorate 50% SP อัตรา 100 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ผสมน้ำ 60-80 ลิตร/ต้น ราดตามแนวชายพุ่มลำไยให้ทั่วอย่างสม่ำเสมอ ในระยะที่ใบของลำต้นสมบูรณ์สีเขียวเข้ม

ดัชนีการเก็บเกี่ยว อายุเก็บเกี่ยวของลำไยที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 6-7 เดือน หลังดอกบาน ทั้งนี้ขึ้นกับฤดูกาล หากเก็บเกี่ยวเมื่อผลแก่จัดเกินไปเนื้อลำไยจะแห้ง มีสีขาวขุ่น ความหวานลดลง และเมล็ดขึ้นหัวหรือเริ่มงอก

ที่อุณหภูมิ 0.5-1 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 28-42 วัน เหมาะสำหรับลำไยที่ผ่านการรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 21-28 วัน ลำไยที่ไม่รมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อเก็บรักษา นานขึ้นผิวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เปลือกจะแข็ง และเนื้อจะแห้งลง

ที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 3-7 วัน ณ ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95%

 

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ

ลำไยมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส บำรุงกระดูกและฟัน มีธาตุเหล็ก บำรุงเลือด และมีวิตามินซีป้องกันโรคหวัด และโรคเลือดออกตามไรฟัน

ชาวจีนเชื่อว่า ลำไยมีสรรพคุณทางยา 2 ประการ คือ ประการแรกเป็นยาบำรุงหัวใจและม้ามชาวจีนให้ความสำคัญกับหัวใจก็เพราะมีผลเกี่ยวเนื่องถึงสมอง อารมณ์ และจิตใจ ส่วนม้ามเกี่ยวเนื่องถึงสมอง อารมณ์ และจิตใจ ส่วนม้ามเกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารและการดูดซึมทั้งหมด เหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอทรุดโทรม อย่างเช่นสตรีหลังคลอดบุตร สตรีที่มีประจำเดือนมาก คนไข้ที่เพิ่งจากอาการป่วยหนัก คนที่เบื่ออาหาร ประโยชน์ด้านการบำรุงเลือด ช่วยให้นอนหลับง่าย คลายความเครียด และความวิตกกังวล

 

GAP ลำไย

 

ลำไยภาคตะวันออกประสบปัญหา การออกดอกในฤดูฝน กับการใช้ปุ๋ยมากเกินไป

1.การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตในการออกดอก คือ สารโพแทสเซียมคลอเรตทางดินร่วมการพ่นสารโพแทสเซียมคลอเรต 3,000 ppm จำนวน 3 ครั้ง ระยะเวลาแทงช่อดอก 28-49 วัน ชักนำให้ออกดอก 56-82.5%

2.การให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำตามค่าวิเคราะห์ดิน

แผนการพัฒนาลำไยปี 2565

ก. แผนงานพัฒนาและบริหารจัดการด้านการผลิตสินค้า

1.การเพิ่มศักยภาพการผลิตลำไยคุณภาพให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
2.การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ ปรับปรุงคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
3.การจัดทำฐานข้อมูลสินค้าลำไยแบบครบวงจร

ข. แผนงานด้านแปรรูปและเพิ่มมูลค่า

1.การเพิ่มศักยภาพการแปรรูปลำไยคุณภาพให้ได้มาตรฐานตลาดส่งออก
2.การพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าลำไย

เป้าหมาย

1. เพิ่มผลผลิตสินค้าลำไย ร้อยละ 10 – 20
2. ลดต้นทุนการผลิตสินค้าลำไย ร้อยละ 5-10
3. เพิ่มมูลค่าเพิ่มสินค้าลำไย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
4.เพิ่มจำนวนรับรองมาตรฐาน GAP และ GMP ให้เพียงพอกับความต้องการส่งออกสินค้าลำไย

5. เพิ่มคุณภาพผลผลิตลำไย เกรด AA ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50

ค. แผนงานด้านการตลาดและโลจิสติกส์

1.เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการตลาดและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าลำไย
2.เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลติสจิกส์
3.อำนวยความสะดวกด้านการค้า (การเจรจากฎระเบียบข้อกฎหมายทางการค้า)

เป้าหมาย

1. เพิ่มช่องทางการกระจายผลผลิตสู่ตลาดภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
2. ระบบการขนส่ง (ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ) มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

3. ลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้านตลาดและโลจิสติกส์ อย่างน้อยร้อยละ 10
4. ตู้คอนเทนเนอร์ในระบบการขนส่งเพื่อการส่งออกมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ
5. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยและผลิตภัณฑ์ลำไยเพิ่มขึ้น

โจทย์ลำไย 2022
1.ปัญหาอุปสรรคต่อการผลิตสินค้าลำไยได้แก่ ปัญหาด้านการผลิต ปัญหาด้านการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่า ปัญหาด้านการตลาด/โลจิสติกส์ และปัญหาด้านนโยบาย
2.แนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการ ในด้านการผลิต ด้านการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่า ด้านการตลาด/โลจิสติกส์  
การประกันลำไย
แนวทางที่ 1 ราคาเป้าหมาย = ต้นทุน + ค่าขนส่ง+ กำไรที่เกษตรกรพึงได้รับ

1) ราคาเป้าหมาย ณ กำไรที่เกษตรพึงได้รับ ณ 20% = 15.18 บาท/กก.
2) ราคาเป้าหมาย ณ กำไรที่เกษตรพึงได้รับ ณ 25% =  15.81 บาท/กก.
3)ราคาเป้าหมาย ณ กำไรที่เกษตรพึงได้รับ ณ 30 % =  16.45 บาท/กก.

แนวทางที่ 2 ราคาเป้าหมาย

1)ราคาเฉลี่ย ( 3 ปีย้อนหลัง ของพาณิชย์) ไม่รวมราคาที่สูงหรือต่ำผิดปกติ หรือปีที่มีการแทรกแซงราคาซึ่งไม่ใช่ราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ ราคาเป้าหมาย = 23.41 บาท/กก.
2) ราคาเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง ราคาเป้าหมาย = 23.86 บาท/กก.

แนวทางที่ 3 ราคาเป้าหมาย = (ราคาขายส่งเฉลี่ย) ณ ตลาดเจียงหนาน กวางโจว (5 ปีย้อนหลัง) x อัตราแลกเปลี่ยน)– ต้นทุนค่าขนส่ง – กำไรของผู้ประกอบการร้อยละ 30

ราคาเป้าหมาย = 68.56 – ต้นทุนขนส่ง –กำไรผู้ประกอบการ 30%

By Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)

Category: GAP, VDO, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ย-ฮ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news