ข่า
ข่า
ชื่ออื่นๆ : กฏกโรหินี ข่า ข่าใหญ่ ข่าหลวง สะเออเคย สะเอเชย สะเชย ข่าแดง ข่า หยวก
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ : Geater galangal
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galangal (L.) Wild.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพรรณไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1.5-2 เมตร ลงหัวจำพวกเหง้า ซึ่งมีข้อหรือปล้องที่เห็นได้ชัด ใบเดียวเรียงสลับแผ่นใบรูปหนาปลายแหลมขอบใบเรียบ ด้านใบมีขนเล็กน้อย กาบใบหุ้มต้น ออกดอกเป็นช่อ ตรงปลายยอดและอยู่ด้วยกันอย่างหลวมๆ ช่ออ่อนมีกาบสีเหลืองอมเหลืองหุ้มมิด ส่วนดอกสีขาวอมม่วงแดงบานจากข้างล่างขึ้นบน มีดอกขนาดเล็กมีใบประดับ กลีบเลี้ยงสีขาวอมเขียวโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นหยัก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น3 กลีบ ผลกลมโตขนาดเท่าเม็ดบัว เมื่อแก่มีสีดำและมีเม็ดเล็กๆ อยู่ภายในมีรสขมเผ็ดร้อน
การนำไปใช้ประโยชน์
- ทางอาหาร เหง้าแก่ ใช้เป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นอาหาร เหง้าอ่อน ต้น อ่อน ดอกอ่อน รับประทานเป็นผัก
- ทางยา ใบ ฆ่าพยาธิ แก้กลากเกลื้อน แก้ ปวดเมื่อยตามข้อ ผล ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้บิด ราก ขับเลือดลม แก้เหน็บชา แก้เสมหะและโลหิต
การขยายพันธุ์ : ใช้เหง้า
การปลูกและการดูแล : สภาพดินและฤดูที่เหมาะสมชอบดินร่วนซุยมีอาหารอุดมมีความชุ่มชื้นเหมาะสมแต่ไม่ชอบน้ำขัง ฤดูที่เหมาะสม ต้นฤดูฝน
การปลูกฺ เตรียมดินโดยขุดดินตากแดดไม่ให้ร่วนซุยใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดกลบหน้าพอสมควร หลังจากตากดินแล้วจึงขุดกลับคืน ย่อยดินเพื่อให้ร่วนซุยอีกครั้ง หลังจากเตรียมดินดีแล้ว จึงขุดแง่งข่าจากกอแม่เดิม โดยใช้ชะแลงแบ่งมาให้แง่งข่ายาวประมาณ 1 คืบ พร้อมติดดินและรากด้วย ขังในหลุมที่ขุดไว้ หลุมละ 2-3 แง่ง กลบดินเท่ากับความลึกของแง่งข่าที่ขุดจากที่เดิม รดน้ำให้ชุ่ม
การดูแล ตอนเริ่มปลูกควรรดน้ำให้วันละ 1-2 ครั้ง และหมั่นดูแลความชุ่มชื้นของดินอยู่เสมอเมื่อข่าเจริญดีแล้วจึงรดน้ำ 2-3 วันละครั้งก็ได้ การใส่ปุ๋ยไม่จำเป็นอาจใส่เดือนละครั้ง หรือไม่ใส่ก็ได้
สรรพคุณ
เหง้าแก่ ใช้เป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นอาหาร เหง้าอ่อน, ต้นอ่อน, ดอกอ่อน รับประทานเป็นผัก ใบ ฆ่าพยาธิ แก้กลากเกลื้อน แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
ผล ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิด
ราก ขับเลือดลมแก้เหน็บชา แก้เสมหะและโลหิต
หน่อ แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
Category: พืชผัก, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ, พืชเครื่องเทศ