แตงกวา
แตงกวา
ชื่ออื่นๆ : -
ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae
ชื่อสามัญ : Common Cucumber
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cucumis sativus L.
1.พันธุ์ :พันธุ์แตงกวาเกษตรกรต้องปลูกตามความต้องการของตลาด ตลาดต้องการลูกสีเขียวยาว หรือขาวยาว หรือใหญ่ป้อม จึงเป็นลูกผสมของแต่ละบริษัทที่เกษตรกรจะเลือกปลูก เช่น ศรแดง บ.เจียไต๋ และบริษัทอื่นๆ
2. การเตรียมดิน ต้องไถดินตามประมาณ 10 วัน จากนั้น พรวนดินให้ร่วน เรียบและสม่ำเสมอ ไม่มีน้ำท่วมขัง ปลูกโดยการยกร่อง หรือพื้นเรียบ
3. วิธีการปลูก หลังจากเตรียมดิน ทำการขึงเชือก ตีหลุมระยะปลูก 1 x1.2 เมตร ปลูกแบบพื้นเรียบ และไม่ต้องทำค้าง หากทำค้างระยะปลูกประมาณ 1 x1.5 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หยอดเมล็ด 3-4 เมล็ด ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา และสารเคมี (เมทาแลคซิล และคาร์โบซัลแฟน)
4. การปักค้าง กรณีทำค้าง ใช้ไม้ลวกปักแต่ละหลุม แล้วใช้ปลายค้างเอียงเข้าหากัน หรือปักตรงแต่ละหลุม และขึงตาข่ายมัดติดกับหลักให้เถาว์แตงกวาเลื้อยขึ้นไป จะสามารถเก็บผลผลิตได้ง่าย
5. การให้น้ำ แตงกวาระบบรากตื้น จึงต้องให้น้ำมาก และควรให้น้ำสม่ำเสมอด้วย ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ เพราะจะทำให้เกิดโรคทางใบได้ง่าย
6. การใส่ปุ๋ย ในขณะเตรียมดิน ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก รองก้นหลุมด้วย และเมื่อแตงกวาอายุ 10 วัน มีแรกประมาณ 2-3 คู่ ก็ใส่ปุ๋ย 46-0-0 ได้บางๆ รดน้ำให้ทั่วถึง
7. การเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 30-40 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยเลือกเก็บเฉพาะระยะส่งตลาด ไม่อ่อนหรือแก่มาก นำมาคัดแยกบรรจุถุงส่งตลาด
8. โรคศุตรูแตงกวาที่สำคัญ
ก. โรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Pseudoperonospora cubensis) มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรก บนใบปรากฏแผลฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลจะขยายตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นแผลเป็นรูปเหลี่ยมเล็กๆ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อรา ลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลบริเวณด้านใต้ใบ แผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว
การป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี และทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง
5. กำจัดด้วงเต่าแตง ซึ่งอาจเป็นตัวแพร่เชื้อราสาเหตุโรค โดยการจับทำลาย หรือพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น ไดโนทีฟูแรน 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
6. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + ฟามอกซาโดน 30% + 22.5% WG อัตรา 10 – 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 10 – 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ค่า psi อยู่ที่ 3 วัน โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5 – 7 วัน
7. แปลงที่เป็นโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น
8. แปลงที่เป็นโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
ข. โรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.) พบเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดเป็นหย่อมๆ บนใบ มักพบที่ใบส่วนล่างของต้นก่อน ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม อาการโรคจะกระจายทั่วทั้งใบ และลุกลามขึ้นไปยังใบส่วนบนของต้น เห็นเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวปกคลุมใบเกือบทั้งต้น ต่อมาใบค่อยๆ ซีดเหลืองและแห้ง หากโรคระบาดรุนแรง จะลุกลามไปยังทุกส่วนของพืช ทำให้ต้นแห้งตายในที่สุด ถ้าแตงเป็นโรคในระยะติดผลอ่อน จะทำให้ ผลแกร็น บิดเบี้ยว ผิวขรุขระ เป็นตุ่ม หรือแผลที่เปลือก โรคนี้มักพบในช่วงสภาพอากาศแห้งและเย็น หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์
1. ดูแลและบำรุงรักษาต้นพืชให้มีความแข็งแรง สมบูรณ์
2. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี
3. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาด พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ฟลูโอไพแรม + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25% + 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% + 25% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เพนทิโอไพแรด 20% SC อัตรา 5 – 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิเนบ 70% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เตตระโคนาโซล 4% EW อัตรา 10 – 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 – 7 วัน
4. แปลงที่เป็นโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก
ค. โรคเหี่ยว และแอนแทรคโนส ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไดเมทโทม็อบ เมทาแลคซิล คาเบนตาซิม หรือโพรคลอราช ตัวใดตัวหนึ่งสลับกัน
9. แมลงศัตรู ที่สำคัญคือ เพลี้ยไฟ เต่าแตง แมลงวันผลไม้เจาะผล เพลี้ยจั๊กจั่น และหนอนคืบ ควรพ่นด้วยสารเคมีอิมิดาโดลพริด เซฟวิน อะมาเม็กติน
การใช้ฮอร์โมน
1.กรดจิบเบอเรลลิก เพื่อเปลี่ยนเพศเมียเป็นเพศผู้ในแตงกวากรดจิบเบอเรลลิก (หรือ Gibberellin A3, GA, และ (GA3) เป็นฮอร์โมนพืชกลุ่มจิบเบอเรลลิน สูตรโครงสร้างคือ C19H22O6 ในรูปบริสุทธิ์เป็นผงสีขาวหรือเหลืองละลายในเอทานอลและละลายในน้ำได้เล็กน้อย ใช้ฉีดพ่น อัตรา 300 ppm.เริ่มพ่นเมื่อแตงกวามีใบจริง 2 ใบ พ่นซ้ำทุก 4 วัน จำนวน 10 ครั้ง เก็บดอกตัวผู้และตัวเมียเพื่อหาอัตราส่วนการเกิดดอก ใช้ต้นเก็บข้อมูล 10 ต้น มีต้นเป็นแนวป้องกันรอบพื้นที่การเก็บข้อมูล ประมาณ 4-5 แถว แถวละ 12 ต้น ในการทดสอบว่าแตงกวาความสามารถของเพศผู้ว่าผสมติดหรือไม่ ให้เก็บดอกเพศผู้มาผสมในช่วงเช้า 7.00-9.00 น. กับดอกเพศเมียบริเวณต้นที่อยู่หัวและท้ายแปลงทั้ง 4 ต้น จำนวนต้นละ 4 ดอก โดยให้ป้องกันการผสมเกสรดจากดอกอื่นในแต่ละครั้งการผสมพันธุ์
2. NAA การเปลี่ยนดอกเพศผู้เป็นเพศเมียให้ใช้ NAA อัตรา 50-100 ppm. ฉีดพ่นจะช่วยในการเกิดเพศเมียได้มากขึ้น
ภาพแปลงแตงกวาทดสอบประสิทธิภาพฮอร์โมนกรดจิบเบอเรลลิกเพื่อเปลี่ยนเพศเมียเป็นเพศผู้ในแตงกวา
แปลงแตงกวาไม่ค่อยเจริญเติบโต ต้นมีอาการสตั้น ใบไหม้ เกิดจาการใช้ยากำจัดวัชพืชพ่นควบคุมหญ้าก่อนปลูก เมื่อปลูกแล้วใบเลี้ยงงอกออกมาจากเมล็ดจะสัมผัสกับยากำจัดวัชพืชจะแสดงอาการ ให้เห็นดังภาพ
Category: พืชผัก, พืชผัก ด-น