banner ad

มะละกอ

| November 29, 2012 | 0 Comments

มะละกอ

ชื่ออื่นๆ : ก้วยลา แตงต้น มะก้วยเทศ ลอกอ หมักหุ่ง มะเต๊ะ

ชื่อวงศ์ : CARICACEAE

ชื่อสามัญ : Papaya

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carica papaya Linn.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ขนาดย่อม ลำต้นกลมตั้งตรง ไส้กลวง เนื้ออ่อนใบเกี่ยวทรงกลมโต ขอบชิดโต เว้าแฉกลึกรูปนิ้วมือ ก้านกลมกลวง ยาว งอกออกจากลำต้นโดยตรง ดอกเล็กสีเนื้อออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลกลมยาว…ลงข้างต้น ขนาดและรูปทรงมีหลายแบบ แล้วแต่พันธุ์ สีเขียว เมื่อสุกสีเหลืองส้ม เมล็ดกลมเล็กสีดำ ดอกตัวผู้เป็นช่อพวงแต่ไม่ติดผล ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน

การนำไปใช้ประโยชน์ : ผลดิบทำแกงส้ม ตำส้ม ผลสุกทานเป็นผลไม้

การขยายพันธุ์ : การเพาะเมล็ด การตัดชำ

การปลูกและการดูแล : การปลูก การเพาะเมล็ดนำไปเพาะในกระบะหรือจะขุดหลุมและหยอดเมล็ดเลย ก็ได้คัดเมล็ดจากพันธุ์ที่ชอบหยอดลงไปในหลุมละ 4-5 เมล็ด

โรคและแมลงศัตรูพืช

1.ไวรัสจุดวงแหวน (เพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรค) ใบอ่อนซีดเหลืองเส้นใบหยาบหนาขึ้น ใบด่างเป็นสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน ถ้าเป็นมากใบจะมีขนาดเล็กลงบิดเบี้ยวผิดรูปร่างบางครั้งใบเรียวเล็กลงเป็นเส้นยาวแทบจะไม่เห็นเนื้อใบ ใบแก่ขอบใบจะม้วนขึ้นและหยัก ลำต้นและก้านใบมีรอยเป็นขีดช้ำหรือรูปวงแหวน ต้นเป็นโรคการติดผลจะเร็วแต่ให้ผลผลิตต่ำและผลมีจุดวงกลมคล้ายวงแหวน ถ้าเป็นรุนแรงมากใบจะร่วงแคระแกร็น แพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ

การป้องกันกำจัด : ไวรัสเป็นเชื้อสาเหตุโรคที่ยังไม่มีสารเคมีกำจัดโดยตรง การป้องกันการระบาดทำได้โดยกำจัดเพลี้ยอ่อนที่เป็นแมลงพาหะโดย

เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค คือ เพลี้ยอ่อน โดยพ่นสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร มั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และทำความสะอาดแปลงทำลายวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นเพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่อนตัวของแมลงพาหะ

——————————————————–

2.โรครากเน่าและโคนเน่า (เชื้อรา Pythium aphanidermatum, Phytophthora palmivora)

ระยะต้นกล้า ส่วนของลำต้นบริเวณผิวดินมีลักษณะฉ่ำน้ำ ใบเหี่ยว ถ้าอาการรุนแรงบริเวณโคนต้นจะหักพับและตายในที่สุด

ระยะต้นโต เริ่มแรกมะละกอแสดงอาการใบล่างเหลือง ก้านใบลู่ลงและหลุดร่วงได้ง่าย ใบที่อยู่ด้านบนของต้นมีสีซีด และยอดอ่อนมีขนาดเล็กลง ต้นแคระแกร็น เมื่ออาการลุกลามใบจะเริ่มสลดและเหี่ยว หลุดล่วง ต้นมะละกอจะเหลือใบยอดเป็นกระจุก บางครั้งบริเวณโคนต้น พบแผลเน่าชุ่มน้ำ มีสีน้ำตาลเยิ้มออกมา ต้นจะหักล้มพับได้ง่าย และตายในที่สุด เมื่อขุดดูพบรากแขนงเป็นสีน้ำตาลหลุดขาดได้ง่าย และรากแก้วเน่าเปื่อย

การป้องกันกำจัด

1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ไม่มีน้ำขัง

2. เมื่อพบต้นที่แสดงอาการโรค ควรถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วนำไปเผาทำลายทันที และใส่ปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดออก หรือ โรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่ บริเวณที่พบโรค จากนั้นกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อสาเหตุโรค

3. เมื่อเริ่มพบการระบาดของโรคใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 4 %+64 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณโคนต้น

4. แปลงที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหมุนเวียน

——————————————-

3.เพลี้ยแป้ง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยง บริเวณยอดอ่อน ใบ ดอก และผล โดยมีมดช่วยพาไปยังส่วนต่างๆ ของต้นพืช การทำลายที่ดอก และผลอ่อน จะทำให้ดอกและผลหลุดร่วง หรือผลบิดเบี้ยว การทำลายที่ยอดอ่อน ใบอ่อน จะทำให้ใบ และยอดหงิกงอ นอกจากนี้มูลหวานที่เพลี้ยแป้งขับออกมาจะทำให้เกิดราดำที่ผิวผล ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดพืช และวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยแป้ง

2. กำจัดมด และแหล่งอาศัยของมด ที่เป็นพาหะของเพลี้ยแป้ง

3. ก่อนการย้ายกล้ามะละกอลงหลุมปลูก ตรวจดูว่าไม่มีเพลี้ยแป้งติดมากับต้นกล้า หากพบควรนำไปทำลายนอกแปลง

4. หลังปลูกหมั่นสำรวจแปลง โดยเฉพาะแนวขอบแปลงทิศเหนือลม หรือขอบแปลงที่ติดกับแปลงอื่น ถ้าพบการระบาด ตัดส่วนที่พบไปทำลาย และพ่นสารที่แนะนำบริเวณจุดที่พบเพลี้ยแป้งและรัศมีโดยรอบ เพื่อป้องกันการกระจายตัวของเพลี้ยแป้ง

5 กรณีที่จำเป็นต้องใช้สารเคมี เลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

—————————————————————————————————

การใช้ฮอร์โมน

1. การเร่งระยะเวลาและเพิ่มเปอร์เซนต์การงอกของเมล็ดที่เพาะ

- สาร Ethephone ความเข้มข้น 150 มก./ล. แช่เมล็ดก่อนนำไปเพาะ

- สาร GA3 ความเข้มข้น 100 มก./ล. แช่เมล็ดก่อนนำไปเพาะ (มะละกอพันธุ์แขกดำ)

2. การปรับเปลี่ยนเพศดอก

- สาร Ethephone ความเข้มข้น 100 – 300 มก./ล. ในระยะที่ต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ และให้ครั้งที่ 2 หลังครั้งแรก 15 – 3 0 วัน

——————————————————————————————————

สรรพคุณ : ผลดิบ ขับลม ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ

ผลสุก ช่วยระบายท้อง เจริญอาหาร

ราก,ก้าน,ใบ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมการอักเสบจากบาดแผล

ต้นอ่อน แก้มุตกิดระดูขาว

ยางจากผลดิบ กัดหูด ไฝฝ้า ฆ่าพยาธิ์ แก้กระเพาะอักเสบ แก้ตับม้ามโต

ประเด็นงานวิจัย

1. โรคใบจุดวงแหวน

2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสม การใช้เชื้อแบคทีเรียที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ตรึงไนโตรเจน

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Research Scientist, Horticultural Research Institute

Tags: , , , , ,

Category: VDO, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล บ-ม

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news