banner ad

มะเขือเทศ

| November 29, 2012 | 0 Comments

มะเขือเทศ

ชื่ออื่นๆ : มะเขือส้ม ตรอบ ตีรอบ น้ำเนอ มะเขือ

ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE

ชื่อสามัญ : Love Apple, Wild Tomato

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lycopersicon esculentum Mill.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 2 ม. ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าวง 3-6 ซม. ยาว 3-10 ซม. ขอบใบเว้าลึก ดูคลายแบแบบขนนก ดอกช่อออกที่ซอกใบ ดอกย่อย 6- 12 ดอก กลีบดอกที่เหลือเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ผลสดรูปทรงกลม หรือทรงกระบอก ฝาเรียบเป็นร่องตามยาวเมื่อยังอ่อนสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีแดง ชมพู ส้ม เหลือง (เมื่อสุก)

การเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตมะเขือเทศ 13 ลักษณะ เพื่อใช้ในการทำเกษตรอัจฉริยะ ผสานกับปัจจัยสภาพแวดล้อมออกมาเป็น Database สำหรับการปลูกพืช 1.Days to flowering 2.Days to fruit setting 3.Leaf temperature 4.NO3 5.Plant vigor 6.Plant height 7.Leaf curling 8. Pollen number, viability, germination 9. % Fruit set 10.Total yield 11. Fruit weight 12. Fruit dry weight 13. Leaf & stem dry weight

ประเทศไทยนิยมใช้เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ 2 แบบ คือ แบบผสมเปิด (OP) และแบบสายพันธุ์ลูกผสม (F1 Hybrid) เราแบ่งมะเขือเทศออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มอุตสาหกรรมหรือกลุ่มผลใหญ่เพื่อการแปรรูป เป็นน้ำมะเขือเทศเข้มข้นหรือซ๊อส มีการเจริญเติบโตแบบไม่ทอดเลื้อยถึงกึ่งทอดเลื้อย น้ำหนักผลมากกว่า 80 กรัม ผลสุกพร้อมกันทั้งต้น ขั้วผลหลุดง่าย ผลแข็ง ปริมาณเนื้อมาก และแน่น น้ำในผลน้อย

2.กลุ่มบริโภคสด เพื่อการรับประทานผลสดหรือประกอบอาหาร แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย

2.1 กลุ่มเชอร์รี หรือมะเขือเทศรับประทานสดผลเล็ก มีการเจริญเติบโตแบบกึ่งทอดเลื้อยถึงทอดเลื้อย ผลมีรูปร่างหลายแบบและมีสีสันหลากหลาย รสหวาน กรอบ เมล็ดน้อย นิยมบริโภคผลคล้ายผลไม้

2.2 กลุ่มผลใหญ่ หรือมะเขือเทศเนื้อ มีการเจริญเติบโตแบบไม่ทอดเลื้อยถึงกึ่งทอดเลื้อย นิยมนำมาประกอบอาหารพวกยำ เนื่องจากมีเนื้อผลหนาและปริมาณเนื้อมาก

2.3 กลุ่มสีดา มีการเจริญเติบโตแบบไม่ทอดเลื้อย ผลรูปกลม รูปรี หรือ รูปผลแพร์ ผลสุกสีชมพูเข้มถึงแดง เนื้อผลหนาและแน่น มีรสเปรี้ยวมากกว่ากลุ่มอื่น นิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อให้ได้รสเปรี้ยวและกลิ่นหอม เช่น ยำ และ ส้มตำ

การขยายพันธุ์ : เมล็ด

การเตรียมวัสดุเพาะ ได้แก่ หน้าดิน แกลบดำ และ ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 2 : 1 : 1 ผสมให้เข้ากันรดน้ำพอหมาด หลังเพาะเมล็ดให้โรยปิดหน้าด้วยขุยมะพร้าวเพื่อรักษาความชื้นและรดน้ำพอชุ่มทุกวัน วางในที่ที่มีแสงแดดรำไร ย้ายปลูกลงแปลงเมื่ออายุ 20-30 วันหลังเพาะเมล็ด

การเพาะกล้า มี 3 วิธีการ

1. การเพาะในถาดหลุม นำวัสดุเพาะใส่ในถาดหลุมพอแน่น หยอดเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อหลุม กลบดินบางๆ เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 – 3 ใบ ให้คัดเลือกเหลือต้นที่สมบูรณ์ 1 ต้นต่อหลุม

2. การเพาะในกระบะเพาะชำ นำวัสดุเพาะใส่ในกระบะ เกลี่ยหน้าดินให้เรียบ ใช้ไม้เขี่ยดินให้เป็นร่องแนวยาวลึก 0.5 เซนติเมตร โรยเมล็ดตามร่องให้เมล็ดกระจายไม่ซ้อนทับกัน กลบดินบางๆ เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 – 3 ใบ ให้ถอนแยกต้นกล้าไม่ให้ซ้อนทับกันในแต่ละแถว

3. การเพาะในถุงเพาะชำ นำวัสดุเพาะใส่ในถุงเพาะชำขนาด 3 x 6 นิ้ว หยอดเมล็ด 2- 3 เมล็ดต่อถุง กลบด้วยดินผสมบางๆ เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 – 3 ใบ ให้คัดเลือกเหลือต้นที่สมบูรณ์ 1 ต้นต่อถุง

การย้ายกล้าจากถาดหลุม ควรใช้มือบีบด้านล่างสุดของถาดหลุม ต้นกล้าจะหลุดออกมาจากถาดพร้อมดินปลูก ทำให้ต้นกล้าไม่กระทบกระเทือนมากนัก การเพาะต้นกล้าโดยใช้ถาดหลุม ช่วยให้เกษตรกรคำนวณปริมาณเมล็ดได้ง่าย และสามารถเตรียมในบริเวณบ้านได้ ทำให้สามารถดูแลต้นกล้าได้ดีกว่า และรากต้นกล้าได้รับความเสียหายน้อยเมื่อทำการย้ายลงแปลง

การปลูกและการดูแลรักษา 

การเตรียมพื้นที่ : ดินร่วนมีอินทรียวัตถุสูง และมีการระบายน้ำดี มีค่าความเป็นกรดด่างของดิน ประมาณ 4.5-6.8 หากดินเป็นกรดให้ใช้ปูนขาวปรับสภาพดิน ไถดินให้ลึกประมาณ 30-40 ซม. ตากดินให้แห้ง 2-3 อาทิตย์ แล้วย่อยดินอีกครั้งให้ละเอียดพอสมควร ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมหรือในพื้นที่ปลูกพืชในตระกูลกลุ่มเดียวกันกับมะเขือเทศมาก่อน เช่น พริก มะเขือ และยาสูบ เป็นต้น เพราะอาจจะมีเชื้อโรคต่างๆ ที่สามารถเข้าทำลายร่วมกันได้กับมะเขือเทศ เช่น โรคโคนเน่าสะสมอยู่ในดิน ซึ่งเป็นโอกาสให้มะเขือเทศเกิดโรคได้ง่าย
การปลูก : ยกแปลงสูง 25-30 เซนติเมตร  ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ปลูกแถวเดี่ยวยกร่องกว้าง 50 เซนติเมตร หรือปลูกแถวคู่ยกร่องกว้าง 75-100 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร สำหรับมะเขือเทศที่มีการเจริญเติบโตแบบทอดเลื้อย และ 50-75 เซนติเมตร สำหรับมะเขือเทศที่มีการเจริญเติบโตแบบไม่ทอดเลื้อย ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 200 กรัม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 20 กรัม/หลุม คลุกดินให้เข้ากัน ปลูกต้นกล้าที่เตรียมไว้หลุมละ 1 ต้น คลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมดิน หรือฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เมื่อต้นกล้าตั้งตัวดีแล้วจึงรดน้ำตามความเหมาะสมกับสภาพดินและอากาศ
การพรวนดินกลบโคนต้นนิยมทำหลังจากใส่ปุ๋ย มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ การกลบปุ๋ยเพื่อลดการระเหยสูญเสียทางอากาศ และเพื่อควบคุมวัชพืช นอกจากนี้การพรวนดินกลบโคนต้นให้สูงของการปลูกช่วงฤดูฝนจะช่วยไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น
การปักค้าง : มะเขือเทศพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตแบบทอดเลื้อยจำเป็นต้องมีการปักค้างโดยใช้ไม้หลักปักค้างต้นก่อนระยะออกดอก ใช้เชือกผูกกับลำต้นให้ไขว้กันเป็นเลข 8 และผูกเงื่อนกระตุกกับค้างเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี สะดวกต่อการดูแลรักษา ใบและผลไม่สัมผัสดินทำให้ลดความเสียหายจากโรคทางดินเข้าทำลาย ผลสะอาดและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
การตัดแต่งมะเขือเทศ : ตัดแต่งกิ่งแขนงบนลำต้นจะทำในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นช่วงแรกก่อนออกดอก และปลิดใบบริเวณช่อผลออกให้โปร่งเพื่อลดการเข้าทำลายของแมลงและเชื้อจุลินทรีย์ ควรทำในช่วงเช้าเพื่อให้รอยแผลแห้งก่อนมืดเพื่อลดการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์บริเวณแผล ถ้าแสงแดดจัดให้เว้นใบปกคลุมช่อผลเพื่อป้องกันสีผลซีดและความหวานลดลง
การใส่ปุ๋ย
1. ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 200 กรัมต่อหลุม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กรัมต่อหลุม
2. หลังปลูกลงแปลงที่ 20 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 80 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับ สูตร 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่สองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบให้น้ำทันทีหลังใส่ปุ๋ย
3. หลังปลูกลงแปลงที่ 45 – 60 วัน หรือก่อนสร้างปุ่มตาดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ปริมาณ 30 – 50 กรัมต่อต้นโดยวิธีฝังกลบโคนต้น ร่วมกับพ่นสารแคลเซียม-ไนเตรท หรือ แคลเซียม-โบรอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ครั้งที่ 1
4. ช่วงติดผลเล็ก พ่นแคลเซียม-ไนเตรท หรือแคลเซียม-โบรอน อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันการขาดธาตุแคลเซียมที่จะทำให้เกิดอาการก้นผลยุบและเน่า
5. มะเขือเทศกลุ่มเชอร์รี ช่วงผลก่อนเปลี่ยนสีใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 30-50 กรัมต่อต้น เพิ่มความหวาน
การให้น้ำ
  การให้น้ำมะเขือเทศมีหลายวิธี ได้แก่ ระบบน้ำตามร่อง ระบบน้ำหยด ระบบสปริงเกลอร์ และ สายยางรด ทั้งนี้วิธีการให้น้ำที่น้ำสัมผัสกับใบควรทำในช่วงเช้าและให้ใบแห้งก่อนค่ำเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อราก่อโรคมะเขือเทศ ระยะแรกควรให้น้ำสม่ำเสมอ จนกว่าติดผล แล้วลดปริมาณลงเพราะถ้าได้น้ำมาก     จะทำให้ผลแตก และเกิดโรคได้ แต่ถ้าหากมะเขือเทศขาดน้ำ และให้น้ำอย่างกะทันหันก็จะทำให้ผลแตกได้เช่นกัน การงดน้ำ เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศกลุ่มเชอร์รี  จะช่วยเพิ่มความหวานและกลิ่นหอม
อุณหภูมิ : มะเขือเทศที่ได้รับอุณหภูมิสูงเกิน 35 C นาน 3 วัน ทำให้เกสรตัวผู้เกิดความผิดปกติ
แสง : ถ้าให้แสงที่มีความเข้มแสงสูงเกินไปจะไปทำลายเม็ดสีมะเขือเทศ ทำให้ขายไม่ได้ราคา ตกเกรด

การป้องกันกำจัดโรค แมลงศัตรูพืช

1.โรคใบไหม้ อาการเริ่มแรกจะเกิดเป็นจุดแผลช้ำๆฉ่ำน้ำสีเขียวเข้มเหมือนใบถูกน้ำร้อนลวก ที่ใบล่างๆก่อน บริเวณขอบแผล จะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวอยู่รอบ ๆ เมื่อเชื้อเจริญมากขึ้นใบจะแห้ง กิ่งและลำต้นเป็นแผลสีดำ ผลมีรอยช้ำเหมือนถูกน้ำร้อนลวก * โรคนี้มักพบระบาดมากทางภาคเหนือ ในฤดูหนาว

การป้องกันกำจัด ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบยกค้าง ควรตัดแต่งใบล่างให้โปร่ง ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศในพื้นที่ที่เคยมีโรคนี้ระบาด เมื่อเริ่มพบโรค ควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คลอโรทาโลนิล 50% เอสซี หรือ เมทาแลกซิล + แมนโคเซบ 72% ดับเบิ้ลยูพี

2. ไส้เดือนฝอยรากปม ใช้ fluopyram 40% sc อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังย้ายกล้าปลูก 1 เดิอน ทำการราดสาร 100 มิลลิลิตรต่อหลุมปลูก

3. หนอนเจาะสมอฝ้ายใบถูกกัดกินเป็นรอยแหว่ง ผลเจาะเป็นรู

การป้องกันกำจัด เก็บผลที่ถูกทำลายออกจากแปลง พ่นเชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) อัตรา 6๐-8๐ กรัมต่อน้ำ 2๐ ลิตร หรือพ่นสารฆ่าแมลง เช่น อินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสปินโนแซด 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 2๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไบเฟนทริน 2.5% EC  อัตรา 8๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรและงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์

4.แมลงวันหนอนชอนใบ ลักษณะใบมีลักษณะเป็นรอยทางยาว

การป้องกันกำจัด เก็บใบที่ถูกทำลายออกจากแปลงข. พ่นสารฆ่าแมลง เช่น ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเบต้า-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ อิมิดาโคลพริด 70 ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์

5.หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ ระยะไข่ 4-6 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัววางไข่ได้ 300 ฟอง ไข่มีทรงกระบอกขนาดเล็ก สีเหลืองครีม ยาว 0.50 มิลลิเมตร ระยะหนอน 8-14 วัน มี 4 วัย วัยแรกสีครีมมีขนาด 1 มิลลิเมตร หนอนวัย 4 ยาว 6-7 มิลลิเมตร จเมื่อเข้าดักแด้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนชมพู  ระยะดักแด้ 7-10 วัน จะฝังตัวบนผิวใบหรือในดิน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ยาว 5-7 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอมเทา เพศผู้ 10-15 วัน เพศเมีย 6-7 วัน

การป้องกันกำจัด ติดกับดักฟีโรโมนเพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้ 8-10 กับดักต่อไร่ และพ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  สารสไปนีโทแรม 12% SC สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC สารลูเฟนนูรอน 5% EC สารอินดอกซาคาร์บ 15% EC สารคลอแรนทรานิลิโพรล เริ่มพ่นเมื่อต้นมะเขือเทศมีอายุ 5 วันหลังย้ายปลูก พ่นทุก 5 วันจนต้นมะเขือเทศเริ่มออกดอและพ่นทุก 7-10 วันในระยะออกดอกติดผลอีก 3-5 ครั้ง ทำความสะอาดโรงเรือน และเก็บเศษซากพืชที่ถูกทำลายเผาหรือฝังในดิน

ปลายปี 2561 ประเทศไทยได้รับรายงานจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่า หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ Tuta absoluta (Meyrick) (TA) เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเปรู ได้แพร่ระบาดเข้ามาในทวีปเอเชีย TA เป็นศัตรูพืชชนิดที่มีความร้ายแรง สามารถทำลายและสร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะในพืชตระกูลมะเขือ ในเอเชียมีรายงานพบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และเนปาล ได้รับการยืนยันจากหน่วยงาน World Vegetable Center และ The Centre for Agriculture and Bioscience International (CABI) พบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศในบริเวณภาคเหนือของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

6. แมลงหวี่ขาว สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด ได้แก่ สารไดโนทีฟูแรน 1% GR อัตรา 3 กรัมต่อหลุม รองก้นหลุม สามารถป้องกันได้ประมาณ 25 วัน สารอิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนโพรพาทริน 10% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เริ่มพ่นเมื่อมะเขือเทศอายุ 5 วัน หลังย้ายปลูก โดยพ่นทุก 5 วัน จนเริ่มออกดอก และพ่นทุก 7-10 วัน ในระยะออกดอกติดผลอีก 3-5 ครั้ง

การเก็บเกี่ยว

1. มะเขือเทศจะเริ่มสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ที่อายุ 50-60 วันหลังปลูก โดยมะเขือเทศกลุ่มไม่ทอดเลื้อยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกันทั้งต้น ส่วนมะเขือเทศกลุ่มทอดเลื้อยจะทะยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานต่อเนื่อง 2-3 เดือน แต่ผลผลิตจะลดลงไปตามระยะเวลาและความสมบูรณ์ของการปฏิบัติดูแล

2. การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือเทศจะนิยมเก็บเกี่ยวก่อนระยะผลสุก โดยผลยังคงมีสีเขียวและเริ่มเปลี่ยนสีเพื่อป้องกันผลช้ำเสียหายระหว่างขนส่ง ในมะเขือเทศพันธุ์สำหรับส่งขายโรงงานอุตสาหกรรมจะปลิดขั้วออก ในขณะที่พันธุ์สำหรับรับประทานสดนิยมมีขั้วติดมาด้วย
ฤดูหนาว เป็นฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ระหว่าง 18-27 องศาเซลเซียส ถ้าความชื้นของอากาศและอุณหภูมิสูงจะทำให้ผลผลิตและคุณภาพ  ลดลง และทำให้เกิดโรคต่างๆ ง่าย มะเขือเทศมีผลผลิตต่อไร่ต่ำในฤดูฝน แต่เป็นช่วงที่มีราคาสูง

มาตรฐานการผลิตมะเขือเทศ

ข้อกำหนดขั้นต่ำ เป็นมะเขือเทศทั้งผล เนื้อแน่น มีขั้วติดกับกระเปาะอยู่ ไม่เสื่อมเสีย ตรงตามพันธุ์ เหมาะสำหรับการบริโภค สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน ไม่มีรอยช้ำ หรือบาดแผลจากการตัดแต่ง ปลอดจากแมลงที่ทำลายผลซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียหาย ไม่มีความผิดปกติที่เกิดจากความชื้นไม่รวมหยดน้ำที่ออกจากห้องเย็น ไม่มีกลิ่นและรสที่ผิดปกติ ไม่เหี่ยวหรือการพรมน้ำ ไม่มีความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำ และหรืออุณหภูมิสูง ไม่มีเส้นใยหยาบในเนื้อ ไม่มีเมล็ดแก่ ไม่มีรอยบุ๋มหรือรอยแยก

1. การแบ่งเกรดด้านคุณภาพมี 3 เกรด ได้แก่ ชั้นพิเศษ(Extra Class I) ชั้นหนึ่ง(Class I) และชั้นสอง (Class II)

- ชั้นพิเศษ มะเขือต้องมีคูภาพดีที่สุด รูปร่างและลักษณะปรากฎตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ มีความสม่ำเสมอในเรื่องสีและขนาด มีขั้วติดผลกระเปาะ เนื้อต้องอยู่ในสภาพดี

- ชั้นหนึ่ง มะเขือมีคุณภาพดี รูปร่างและลักษณะปรากฎตรงตามพันธุ์ มีตำหนิได้เล็กน้อย เช่น ความผิดปกติของรูปทรง สี สำหรับรอยช้ำหรือรอยแผลเป็นยอมให้มีได้ไม่เกิน 2% ของพื้นผิวและต้องไม่มีผลกระทบต่อผลิตล

- ชั้นสอง มะเขือต้องเป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำด้านคุณภาพ มีตำหนิ ความผิดปกติของรูปทรง สี ได้ สำหรับรอยช้ำหรือรอยแผลเป็นยอมให้มีได้ไม่เกิน 4% ของพื้นที่ผิวและต้องไม่มีผลกระบต่อผลิตผล

2. การแบ่งชั้นด้านขนาด โดยใช้เส้นผ่าศูนย์กลางหรือน้ำหนักเป็นเกณฑ์ แบ่งตามขนาดลูกกลมเล็ก ลูกทรงยาว และลูกกลมใหญ่ ดังนี้

a. เกณฑ์ตามเส้นผ่าศูนย์กลาง สำหรับมะเขือรูปทรงกลมเล็ก กำหนดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 20 มิลลิเมตร รูปทรงยาว 35 มิลลิเมตร และลูกกลมใหญ่ 75 มิลลิเมตร โดยความแตกต่างระหว่างลูกเล็กและลูกใหญ่ไม่ควรเกินดังนี้ รูปทรงกลมเล็ก 5 มิลลิเมตร ลูกทรงยาว 20 มิลลิเมตร ลูกกลมใหญ่ 25 มิลลิเมตร

b. เกณฑ์ตามน้ำหนัก กำหนดให้น้ำหนักน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 50 กรัม โดยแบ่งเป็น

น้ำหนักมากกว่า 100 กรัม ความแตกต่างระหว่างลูกเล็กและลูกใหญ่ไม่เกิน 20 กรัม
น้ำหนักตั้งแต่ 100-300 กรัม ความแตกต่างระหว่างลูกเล็กและลูกใหญ่ไม่เกิน 50 กรัม
น้ำหนักตั้งแต่ 300-500 กรัม ความแตกต่างระหว่างลูกเล็กและลูกใหญ่ไม่เกิน 75 กรัม
น้ำหนักมากกว่า 500 กรัม ความแตกต่างระหว่างลูกเล็กและลูกใหญ่ไม่เกิน 200 กรัม

ขนาดในชั้นพิเศษ บังคับให้มะเขือเทศรูปทรงยาว มีความยาวไม่ต่ำกว่า 80 มิลลิเมตร

————————————————

การนำไปใช้ประโยชน์ : ทางอาหาร ผลสุกปรุงรสอาหารประเภทต้ม หรือยำ หรือบริโภคสด น้ำมะเขือเทศสดพอกหน้าโดยนำผลมะเขือเทศบดให้ละเอียดเติมน้ำมะนาว 2-3 หยด

สรรพคุณ

ใบ ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาทาหรือพอกแก้ผิวหนังถูกแดดเผา

ผล ใช้ผลสด นำมารับประทานสด หรือต้มเอาน้ำแกงกิน เป็นยาแก้กระหายน้ำ เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับพิษและสิ่งที่คั่งค้างในร่างกาย ช่วยบำรุง และกระตุ้นกระเพาะอาหาร ลำไส้ และไต

ราก ใช้รากสด นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ปวดฟัน หรือใช้น้ำที่ต้มนำมาล้างบาดแผล

ประเด็นงานวิจัย การผลิตมะเขือเทศในโรงเรือน เช่น การติดดอก และการผสมเกสร อุณหภูมิ และความชื้นมีผลต่อผลผลิต

Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news