banner ad

สละ

| May 3, 2016

สละ Salacca

พันธุ์สละมี 3 พันธุ์ คือสละพันธุ์สละมาลี สละเนินวง สละหม้อ

1. สละพันธุ์สุมาลีซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เนื้อมีรสชาติหวานแหลม และมีกลิ่นหอม เมล็ดใหญ่ เนื้อหนา ผลมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผลสละเนินวง มีถิ่นกำเนิดที่ ตำบลบ่อพุ  อ.ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี  พบในปี 2553 กลายพันธุ์มาจากสละหม้อหรือเนินวง ผลมีรูปร่างป้อมสั้น สีเนื้อคล้ายระกำ แต่หนากว่า รสชาติหวานมีกลิ่นเฉพาะตัว

2. สละเนินวงมีลักษณะเด่นคือ เนื้อมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อหนา ผลใหญ่กว่าสละพันธุ์สละมาลี มีถิ่นกำเนิดที่บางกะจะ อ.เมือง จันทบุรี กลายพันธุ์มา  จากสละหม้อ  ผลสุกจะมีสีแดง   ผลรูปร่างคล้ายกระสวย  มี 1-3 กลีบ  หนามผลยาว  เมื่อสุกเนื้อมีสีเหลืองนวล กลิ่นหอม เมล็ดเล็ก

3. สละหม้อมีถิ่นกำเนิด ที่กรุงเทพฯ   ผลยาวกว่าระกำ  ก้นผลเป็นจะงอย  สีเปลือกเข้ม  รสชาติหวาน เนื้อหนา   ฉ่ำน้ำ เมล็ดมีสีอ่อนกว่าระกำ  ผลมี 2-3 กลีบ

สละเป็นพืชที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับไม้ผลอีกหลายชนิดโดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งออกดอกทะลายแรก จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี ถ้ามีการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม สละเริ่มมีดอกเมื่อมีอายุ 2-3 ปี มีคานดอก (ทะลาย ) 12 คาน/ปี มีช่อดอก (กระปุก)อยู่ระหว่าง 12 -15 ช่อดอก/ทะลาย มีจำนวนผลอยู่ระหว่าง 30 60 ผล/ช่อดอก มีอายุการเก็บเกี่ยว 8 – 9 เดือน

การคัดเลือกต้นพันธุ์ : ตรงตามพันธุ์ ต้นกล้าต้องแข็งแรงปราศจากโรคและแมลง ต้นสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร มีใบจริง 4-5 ใบ ที่มีความสมบูรณ์ สังเกต หนามของยอดอ่อนยังไม่คลี่จะมีสีขาว

การปลูก : เตรียมหลุมขนาด  30 x 30 x 30 ซม.หรือ 50 x 50 x 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 1 กิโลกรัม/หลุม และหินฟอสเฟส อัตรา 500 กรัม/หลุม ทำการพรางแสงด้วยตาข่ายพรางแสง 50 %  ปลูกไม้ร่มเงาปลูกไม้กันลม

ระยะปลูก: ระยะ  4 เมตร x 4 เมตร  =  100 ต้น/ไร่ ระยะ  5 เมตร x 5 เมตร  =    64 ต้น/ไร่ ระยะ  6 เมตร x 4 เมตร  =    66 ต้น/ไร่

การใส่ปุ๋ย

1. สละอายุ 1-3 ปี ใส่ปุ๋ยคอก  : 10-20 กก./กอ/ครั้ง แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี ใส่ปุ๋ยเคมี  : 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 2-5 กก./กอ/ปี แบ่งใส่ 2-4 ครั้ง/ปี
2. สละอายุ 3 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยคอก : 30-40 กก./กอ/ครั้ง จำนวน 2 ครั้ง/ปี ใส่ปุ๋ยเคมี :  15-15-15  หรือ 13-13-21 หรือ 8-24-24 อัตรา 1-2 กก/ กอ/เดือน แบ่งใส 2 ครั้ง

การให้น้ำ : สละต้องการน้ำ 100 – 118 ลิตร/กอ/วัน ใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์  หัวขนาด  3/4  2/3  นิ้ว หรือมินิสปริงเกอร์  ระยะเวลาให้น้ำนาน 15 นาที เว้นระยะ 2 วันครั้ง หรือให้น้ำนาน 20-30 นาที เว้นระยะ 3 วันครั้ง หรือให้น้ำนาน 30-40 นาที เว้นระยะ 4 วันครั้ง หรือให้น้ำนาน 60-90 นาที  เว้นระยะ  5 วันครั้ง

การไว้กอ : การปลูกแบบกอเดี่ยว เมื่อสละเจริญเติบโตและมีการแทงหน่อข้างให้ตัดทิ้งให้เหลือเฉพาะต้นแม่เดี่ยว การปลูกแบบกอ เมื่อหน่อสละเจริญเติบโตจากต้นแม่และอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการทำการเลี้ยงหน่อข้างนั้นไว้เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ จำนวน ต้น/กอ อยู่ระหว่าง 2-4 ต้น ขึ้นอยู่กับระยะปลูก

การตัดแต่งทางใบสละ : ให้ตัดแต่งคือ ตัดใบที่แห้ง ใบเหลือง ใบที่เป็นโรค ใบที่ตัดผลหมดแล้วออกปีละ 1 ครั้ง

การจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพ
1.การช่วยผสมเกสร สละจะติดผลได้ดีจะต้องมีการช่วยผสมเกสร โดยใช้เกสรตัวผู้ของสละหรือระกำ การช่วยผสมเกสรสละทำได้หลายวิธี คือ
- การผสมเกสรแบบเขย่าถุง นำดอกตัวผู้มาหั่นตามความยาวแล้วนำมาใส่ถุงพลาสติก จำนวน 200-300 กรัม แล้วนำไปสวมกับดอกตัวเมียที่บาน 50 % ทำการเขย่า 3-4 ครั้ง
-การผสมเกสรแบบถูดอก นำดอกตัวผู้ที่บานไปถูกับดอกตัวเมียที่บาน 50 %  ดอกตัวผู้ 1 ดอกต่อดอกเมีย 7 ดอก
-การผสมเกสรแบบพ่นดอก นำเกสรสำเร็จรูปมาผสมแป้งทาลคัม อัตรา 1 : 10 (เกสร 1 ส่วนผสมกับแป้งทาลคัม 10 ส่วน) จากนั้นนำเกสรที่ผสมกันแล้วบรรจุใส่อุปกรณ์พ่นดอก แล้วนำอุปกรณ์พ่นดอกไปสวมกับดอกตัวเมียที่บานแล้วร้อยละ 50 ขึ้นไป ทำการบีบพ่น 3-4 ครั้ง
2.การตัดแต่งกระปุก ตัดแต่งกระปุกให้เหลือ 5 – 8 กระปุก/ทะลาย เพื่อให้สละมีคุณภาพที่ดีและทำการโยงกระปุก

สละที่มีความสมบูรณ์และได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจะมีการออกดอกประมาณ 12 ทะลายต่อปี โดยในแต่ละทลายจะมีกระปุกดอกประมาณโดยเฉลี่ย 12-15 กระปุก การปล่อยให้สละติดผลทุกกระปุกจะมีผลต่อขนาดผลในแต่ละกระปุก แต่ละทะลาย โดยบางกระปุกหรือบางทะลายจะมีขนาดเล็กมากกว่าผลขนาดใหญ่เนื่องจากเกิดจากการแย่งอาหารเพื่อในการพัฒนา ทั้งภายในทะลายเดียวกัน และต่างทะลายในต้นเดียวกัน รวมทั้งจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของต้นในฤดูถัดไป ดังนั้นการพิจารณาตัดแต่งกระปุกดอกออกบางส่วนโดยเฉพาะกระปุกที่อยู่ปลายของแต่ละทะลายดอกให้เหลือเฉลี่ยประมาณ 6 – 8 กระปุก/ทะลาย หรือตัดทะลายออกเหลือ 8-10 ทะลาย/ต้น จะช่วยให้กระปุกดอกและทะลายดอกที่เหลือมีการพัฒนาการได้ดีขึ้น ผลมีขนาดใหญ่ตรงตามความต้องการของตลาด ผลสละในกระปุกหนึ่งมีประมาณ 30 -60 ผล รูปผลเรียวปลายกลม ขนาดกว้างประมาณ 3 -4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 -5.5 เซนติเมตร เมื่อผลอ่อนสีน้ำตาลไหม้เกือบดำ เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีแดง เปลือกผลมีเกล็ดและหนามปกคลุม ผลหนึ่งมีประมาณ 1-3 กลีบ เนื้อสีเหลืองอ่อน เนื้อหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร เมล็ดมีขนาดกว้าง 14 มิลลิเมตร ยาว 16 มิลลิเมตร เม็ดมีสีน้ำตาล รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม

แมลงที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

ก. ด้วงเจาะผลสละ Mecocerina sp. กัดกินอยู่ภายในเนื้อของผลสละ และเข้าดักแด้ ในเมล็ด ด้วงเจาะผลสละเริ่มเข้าทำลายผลสละที่อายุประมาณ 7-9 เดือน ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลดำเป็นน้ำตาลแดง และเริ่มมีกลิ่นหอม ซึ่งการเข้าทำลายของด้วงเจาะผลสละชนิดนี้ไม่สามารถสังเกตจากภายนอก  หรือด้วงจะวางไข่ทางบาดแผลจากการตัดแต่งหน่อและหนอนจะกินเหง้า หรือวางไข่ที่ช่อดอกและกัดกินช่อดอกตัวผู้และตัวเมีย

ข. ด้วงแรด Rhinoceros beetle ด้วงจะกัดกินส่วนอ่อนของเหง้า ทำให้เกิดโรคทำเข้าลายซ้ำ

ค. หนอนร่าน Nettle caterpillar  หนอนมีลำตัว สีเขียวมีขนแข็งขึ้นเป็นกระจุกเรียงเป็นแถวตลอดลำตัว  หนอนจะกินใบทำให้ใบเสียหาย

การป้องกันกำจัด
1. พ่นด้วยสาร พิริมิฟอส-เมทิล 50% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไทอะมีทอกแซม 25% ดับบลิวจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 15 วัน ตั้งแต่ผลสละอายุ 6 เดือน จนกระทั่งเก็บเกี่ยว
2. ห่อผลสละด้วยถุงผ้ามุ้ง ถุงปุ๋ย หรือถุงพลาสติกที่เคลือบสารคลอร์ไพริฟอส 1% โดยต้องเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลสละอายุ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของด้วงเจาะผล

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

ก.โรคผลเน่า เชื้อราสาเหตุ Thielaviopsis sp. เปลือกของผลสละจะมีสีน้ำตาล ถ้าความชื้นสูงจะพบเส้นใยสีขาวหรือขาวอมชมพูของเชื้อราเกิดขึ้น เส้นใยจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผล ทำให้เปลือกเปราะ แตก เนื้อสละด้านในเน่า ผลร่วง เมื่อเชื้อราเจริญเต็มที่เส้นใยจะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกบานจะปลดปล่อยสปอร์แพร่ระบาดไปสู่ผลทะลายอื่นๆ ได้

การป้องกันกำจัด
1. ควรตัดแต่งทางใบที่แก่หมดสภาพ โดยเฉพาะทางใบที่อยู่ด้านล่างๆ ให้มีการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้มีความชื้นสะสมใต้ทรงพุ่มมากเกินไป
2. ตรวจแปลงสม่ำเสมอ เก็บผลที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลาย เก็บเผาทำลายเศษซากพืชและผลเป็นโรคที่ร่วงอยู่ใต้ต้น เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม
3. พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้ ไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล+ ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% + 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสาร 2 ครั้ง ครั้งแรกก่อนเก็บเกี่ยวผลสละ 2 เดือน ครั้งที่สองหลังจากครั้งแรก 7 วัน

ข. โรคใบจุด เกิดจุดแผลสีเหลืองอ่อน ขนาดหัวเข็มหมุด ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผลขยายออกมีลักษณะค่อนข้างกลม

การป้องกันกำจัด
1. โรคใบจุดมักเกิดกับต้นสละที่ปลูกในสภาพโล่งแจ้ง ไม่มีไม้ร่มเงา จึงควรปลูกไม่โตเร็วเป็นนไม้ร่มเงาที่เหมาะสมให้แก่ต้นสละ
2. ตรวจแปลงสม่ำเสมอตัดทางใบที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลาย
3. เมื่อเริ่มพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้ โพรพิโคนาโซล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล 20%+12.5% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสาร 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน

การเก็บเกี่ยว : นับอายุผล เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8 เดือนหลังดอกบาน ดูสีเปลือก สีเปลือกจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวเปลือกแตกเป็นลายคลายเกล็ดงูชัดเจน บีบผล เมื่อบีบจะรู้สึกนิ่ม ผลจะหลุดจากขั้วได้ง่าย

Category: พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ย-ฮ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news